พม. จัดงานวันสตรีสากล ประจำปี 2566ชูแนวคิด “พลังสตรีและเด็กหญิง ร่วมสร้างสรรค์นวัตกรรมและเทคโนโลยี สู่ความเสมอภาคระหว่างเพศอย่างยั่งยืน” พร้อมมอบโล่เชิดชูเกียรติสตรี บุคคล และหน่วยงานองค์กรดีเด่นเนื่องในวันสตรีสากล

วันนี้ (8 มี.ค.66) เวลา 08.30 น. นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคง           ของมนุษย์ เป็นประธานกล่าวเปิดงาน “วันสตรีสากล ประจำปี 2566” ภายใต้แนวคิด “พลังสตรีและเด็กหญิง ร่วมสร้างสรรค์นวัตกรรมและเทคโนโลยี สู่ความเสมอภาคระหว่างเพศอย่างยั่งยืน”และมอบโล่ประกาศเกียรติคุณแก่สตรี บุคคล หน่วยงาน
 และองค์กรดีเด่น เนื่องในวันสตรีสากล ประจำปี 2566 จํานวน 15 สาขา 58 รางวัล และสตรีดีเด่นที่ทำคุณประโยชน์ต่อสังคมอย่างต่อเนื่อง ณ ห้องประชุมชั้น 2 อาคารกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคง       ของมนุษย์
นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีกระทรวง พม. กล่าวแสดงความยินดีและให้กำลังใจกับทุกหน่วยงาน องค์กร และบุคคลที่ได้รับการประกาศเกียรติคุณเนื่องในวันสตรีสากล ประจำปี 2566 ซึ่งได้ดำเนินงานเพื่อเสริมพลังสตรี และเด็กหญิง และเป็นเรื่องที่สังคมรับรู้ เห็นถึงความตั้งใจในการทำงานของทุกท่านเหล่านั้น และในนามของคณะรัฐบาล ขอเป็นกำลังใจ และร่วมเป็นภาคีกับทุกท่าน ทุกองค์กร ในการสืบสานและสร้างสรรค์คุณงามความดีที่ได้กระทำไว้สืบต่อไป
นายจุติ กล่าวต่อไปว่า สำหรับวันสตรีสากล ประจำปี 2566 ประเทศไทยได้กำหนดแนวคิด “พลังสตรีและเด็กหญิง ร่วมสร้างสรรนวัตกรรมและเทคโนโลยี สู่ความเสมอภาคระหว่างเพศอย่างยั่งยืน” เพื่อให้สตรีทุกช่วงวัยได้มีส่วนในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีของตนเอง ครอบครัว และ
ชุมชนได้อย่างยั่งยืน สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาประเทศของรัฐบาล ซึ่งมุ่งเน้นพลิกโฉมลประเทศไทยให้เป็นประเทศพัฒนาแล้ว และพร้อมสำหรับโลกอนาคต โดยมีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว และยั่งยืน ยกระดับคุณภาพชีวิต และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันด้วยเศรษฐกิจสร้างมูลค่า และคุณค่าด้วยวิทยาศาสตร์ นวัตกรรมและเทคโนโลยี ภายในปี 2570 
โดยยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง ไม่ได้มุ่งเน้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว แต่ยังให้ความสำคัญกับการเจริญเติบโตอย่างทั่วถึงไปพร้อมกันทั่วสังคม มุ่งเน้นการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในประเด็นการสร้างโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาเรียนรู้
 ระบบสาธารณสุข ระบบการจัดสรรทรัพยากร การส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศของประชาชนผู้มีรายได้น้อย ผู้ด้อยโอกาส เด็ก เยาวชน สตรี      ผู้พิการ ผู้สูงอายุ ที่จะพัฒนาตนเองสู่โลกแห่งศตวรรษที่ 21 เพื่อสร้างโอกาสที่ครอบคลุม เสมอภาคสำหรับทุกคน เป็นการลดปัญหาความเหลื่อมล้ำของสังคมไทย สำหรับในประเด็นนวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัล รัฐบาลตระหนัก และเห็นความสำคัญของการพัฒนาประเทศโดยการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัลที่ปลอดภัยมาใช้ประโยชน์ รวมทั้งยังตระหนักว่า ปัญหาช่องว่างทางดิจิทัลยังคงเป็นเรื่องสำคัญที่กำลังเผชิญอยู่ จึงมุ่งเน้นการลดช่องว่างทางดิจิทัล 
โดยการสร้างระบบนิเวศทางดิจิทัลที่ปลอดภัย และสะดวกในการเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลสำหรับทุกคน รวมทั้งสนับสนุนการพัฒนาความรู้และทักษะด้านดิจิทัล เพื่อให้คนไทยสามารถนำนวัตกรรม และเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ประโยชน์ในการพัฒนาประเทศทั้งในมิติทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ให้พร้อมสำหรับโลกยุคปัจจุบัน และในอนาคต 
ด้าน นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวง พม. กล่าวว่า ในอดีตสังคมให้คุณค่าต่อผู้หญิง ว่ามีความสามารถไม่เทียบเท่าผู้ชาย เนื่องจากปัจจัยทางกายภาพ ตลอดจนค่านิยมทางสังคม ส่งผลต่อระบบความคิดที่ทำให้ผู้หญิงเข้าศึกษาในศาสตร์ด้าน STEM หรือ วิทยาศาสตร์ (Science) เทคโนโลยี (Technology) วิศวกรรมศาสตร์ (Engineering) และคณิตศาสตร์ (Mathematics) ในสัดส่วนที่น้อยมาก โดยสถิติทั่วโลกพบว่า มีผู้หญิงเพียง 28% เท่านั้นที่จบการศึกษาด้าน STEM ซึ่งเป็นตัวเลขที่ต่ำกว่า            
ที่คาดการณ์ไว้ โดยหญิงไทยก็อยู่ในเกณฑ์ค่าเฉลี่ยนี้ และโลกแห่งการทำงานในอุตสาหกรรมด้านเทคโนโลยีดิจิทัล และนวัตกรรม ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ของผู้ชาย อย่างไรก็ดี มีข้อมูลชี้ว่า แม้เพศหญิงจะเรียนสาขา STEM ได้เก่งมาก แต่เมื่อเข้าสู่โลกแห่งการทำงาน ต้องเผชิญกับการกดดัน ความไม่เจริญก้าวหน้าในอาชีพการงาน วงการ STEM ที่มีการแข่งขันที่สูง ไม่เอื้อต่อการมีครอบครัว หรือ work-life balance ที่ดี บางครั้งต้องเจอกับการกดขี่ทางเพศ และการปลดพนักงาน โดยเฉพาะเพศหญิง 
กระทรวง พม. ได้ตระหนักถึงค่านิยมดังกล่าว จึงได้กำหนดนโยบายด้านการเสริมพลังผู้หญิงและเด็กหญิง โดยเฉพาะ  ด้านเทคโนโลยีดิจิทัลไว้ในแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาสตรีแห่งชาติ (พ.ศ. 2566 - 2570) เร่งลดความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัลสำหรับผู้หญิงและเด็กหญิง โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกล ผ่านโครงการมากมาย ตัวอย่างเช่น การให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ภายใต้โครงการเน็ตประชารัฐ เพื่อให้เข้าถึงโอกาสทางการศึกษาและการประกอบอาชีพได้อย่างเท่าเทียม และเพื่อปลดล็อกศักยภาพของผู้หญิงในด้านเศรษฐกิจดิจิทัล ได้ร่วมมือกับสมาคมนักธุรกิจสตรี เพิ่มพูนความรู้ทางธุรกิจและทักษะด้านดิจิทัลแก่ผู้ประกอบการหญิงในวิสาหกิจ SME มีหลักสูตรฝึกอาชีพออนไลน์สำหรับผู้หญิงทั่วประเทศ โดยศูนย์เรียนรู้การพัฒนาสตรีและครอบครัว เพื่อให้ผู้หญิงสามารถรับมือกับวิกฤติเศรษฐกิจและสร้างความยืดหยุ่นในการฟื้นตัว และโครงการพัฒนาศักยภาพแรงงานสตรี STEM ในสถานประกอบการ เพื่อยกระดับแรงงานสตรี นอกจากนี้ เพื่อเป็นการสร้างสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรกับผู้หญิงและเด็กหญิง ในโลกยุคดิจิทัล ได้ร่วมมือกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในการจัดการปัญหาอาชญากรรมทางเทคโนโลยีที่กระทำความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็กหญิงในโลกไซเบอร์ 
นางจินตนา จันทร์บำรุง อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวง พม. โดยกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) ในฐานะหน่วยงานหลักในการพัฒนาศักยภาพสตรีส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ เล็งเห็นถึงความสำคัญของผู้หญิง จึงจัดงานวันสตรีสากลมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อยกย่อง เชิดชูเกียรติ และเสริมสร้างกำลังใจให้แก่สตรี บุคคล หน่วยงาน องค์กรดีเด่น อีกทั้งยังมุ่งมั่นผลักดันพลังของสตรีให้เป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ สำหรับการจัดงานสตรีสากลในปีนี้ พม. มุ่งมั่นที่จะเสริมพลังผู้หญิงและเด็กหญิง โดยเฉพาะในด้านเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อเป็นเครื่องมือในการยกระดับทุนมนุษย์ของสตรี เพื่อนำพาประเทศสู่ความเสมอภาคระหว่างเพศอย่างยั่งยืน ให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี โดยมีตัวอย่างของสตรี บุคคล และหน่วยงานองค์กรที่มีชื่อเสียง ที่ได้ผ่านเกณฑ์และกระบวนการคัดเลือกโดยคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิว่าเป็นบุคคลที่มีผลการทำงานเพื่อสังคมและเป็นผู้ที่มีส่วนในการพัฒนาศักยภาพสตรี ซึ่งจะเป็นแบบอย่างในการสร้างแรงบันดาลใจให้กับสตรี บุคคล และองค์กรอื่นๆ ในการสร้างสรรค์สังคมที่มีความเสมอภาค อาทิ    คุณฐาปนีย์ เอียดศรีไชย สาขาสตรีดีเด่นด้านสื่อมวลชน (ประเภทสื่อวิทยุโทรทัศน์) หน่วยงานดีเด่นด้านการคุ้มครองสิทธิและการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ ได้แก่ สถาบันพระปกเกล้า และองค์กรเอกชน ได้แก่ บริษัท ลอรีอัล (ประเทศไทย) จำกัด และรางวัลเกียรติยศแก่สตรีดีเด่น ได้แก่คุณหญิงณัฐิกา วัฒนเวคิน อังอุบลกุล ในฐานะผู้ทำคุณประโยชน์ต่อสตรีอย่างต่อเนื่อง 
นอกจากนี้ ยังมีบูธนิทรรศการแสดงผลงานด้านนวัตกรรมจากหน่วยงานภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน อาทิ          สมาคมบัณฑิตสตรีทางกฎหมายแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์       ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เครือข่ายผู้ประกอบการสตรีอาเซียน ประเทศไทย (AWEN THAILAND) องค์การเพื่อการส่งเสริมเสมอภาคระหว่างเพศ และกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ UNFPA สมาพันธ์สตรีทำความดีแห่งประเทศไทย บริษัท TikTok ลาซาด้า และแอพ ALLY by ila รวมถึงหน่วยงานในสังกัดกระทรวง พม. ที่นำนวัตกรรมในการดูแล ช่วยเหลือและพัฒนาเด็ก สตรี ครอบครัว ผู้สูงอายุ และผู้พิการ เช่น แอพคุ้มครองเด็ก Family Line เพื่อนครอบครัว ไม้เท้าไฟฟ้าสำหรับผู้สูงอายุ “Brain Racing” เกมแข่งรถควบคุมด้วยสัญญานสมองของคนพิการ ระบบสมุดพกครอบครัวอิเล็กทรอนิกส์ MSO-LOGBOOK ระบบจองบ้าน ระบบการวิเคราะห์สภาพการเงินออนไลน์ เป็นต้น

ความคิดเห็น