โครงการโรงเรียนสร้างเสริมสุขภาวะตามแนวทางการพัฒนาทั้งระบบ (Healthy School : The Whole System Approach) รูปแบบการเรียนรู้และช่วยเหลือนักเรียน ต่อยอดจาก Home Program
เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2564 ณ ห้อง NR Digital Knowledge Centre โรงเรียนมัธยมวัดนายโรง ได้มีการประชุมขยายผล (ผ่าน ZOOM FACEBOOK LIVE และ ON SITE) พร้อมทั้งเสวนา “การดำเนินโครงการโรงเรียนสร้างเสริมสุขภาวะตามแนวทางการพัฒนาทั้งระบบ (Healthy School : The Whole System Approach)” โดยมี นายศรายุทธ ธิศรีชัย รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตการศึกษาพื้นที่ สพม.1 เป็นประธานในการประชุม ร่วมด้วย ดร.เจนการณ์ เพียงปราชญ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนมัธยมวัดนายโรง, อาจารย์วันทนา ชูช่วย อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนมัธยมวัดนายโรง, อาจารย์ธีรวี สำราญศิลป์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงเรียนมัธยมวัดนายโรง, อาจารย์ไพรัช ตันติศิริกุล คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน โรงเรียนมัธยมวัดนายโรง, คุณหัสดิน เจริญชาติ นายกสมาคมผู้ปกครองและครูโรงเรียนมัธยมวัดนายโรง, คุณภาวนา เหวียนระวี ผู้อำนวยมูลนิธิแพธทูเฮลท์ โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์เบ็ญจมาศ โอฬารรัตน์มณี คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้ดำเนินรายการเสวนาภายใต้กรอบโควิด-19
ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เป็นภาวะวิกฤตทางสุขภาพทำให้วัยรุ่นมีความเสี่ยงต่อการติดโรคโควิด-19 และปัญหาสุขภาพใจ นอกจากนี้สถานการณ์ดังกล่าวยังส่งผลต่อการพัฒนาศักยภาพวัยรุ่น ทั้งในด้านการเรียนรู้ การเจริญเติบโตทางสมองและร่างกาย รวมถึงการฝึกฝนพัฒนาพฤติกรรมที่เตรียมความพร้อมเป็นวัยผู้ใหญ่ที่จะเป็นกำลังสำคัญของประเทศต่อไป "โครงการโรงเรียนสร้างเสริมสุขภาวะตามแนวทางการพัฒนาทั้งระบบ (Healthy School : The Whole System Approach)" เป็นความร่วมมือระหว่างคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับมูลนิธิแพธทูเฮลท์ และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา สพม.๑ ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนการสร้างเสริมสุขภาพหรือ สสส.โดยมีรายละเอียดที่มา
เพื่อดำเนินการตามยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ ที่มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาคนไทยในทุกมิติและในทุกช่วงวัยให้เป็นคนดี เก่ง และมีคุณภาพ มีความพร้อมทั้งกาย ใจ สติปัญญา มีพัฒนาการที่ดีรอบด้านและมีสุขภาวะที่ดีในทุกช่วงวัย มีจิตสาธารณะ รับผิดชอบต่อสังคมและผู้อื่น เป็นพลเมืองดีของชาติ มีหลักคิดที่ถูกต้อง มีทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่21 มีนิสัยรักการเรียนรู้และการพัฒนาตนเอง อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต เร่งการเสริมสร้างสุขภาพ คนไทยเชิงรุก ให้ความสาคัญกับการปฏิรูปและเสริมสร้างการดูแลเด็กและวัยรุ่นให้เติบโตอย่างมีคุณภาพ มีความฉลาดทางสติปัญญาและอารมณ์ ดูแลผู้สูงอายุได้ สร้างความตระหนักต่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ ลดพฤติกรรมเสี่ยง มีส่วนร่วมในการดูแลสุขภาวะตนเอง ครอบครัว ชุมชน โดยส่งเสริมแนวทางการทางานร่วมกันแบบบูรณาการ
การจัดประชุมครั้งนี้ มีเป้าหมายที่จะนำเสนอแนวทางการดูแลวัยรุ่นไทยในช่วงสถานการณ์วิกฤตดังกล่าวในรูปแบบการดำเนินงานเชิงระบบโรงเรียนเพื่อทำให้เกิดสุขภาวะวัยรุ่น โดยจะมีการบรรยายในเรื่องทิศทางการศึกษาไทยกับโรงเรียนสุขภาวะและอภิปรายในรายละเอียด ผลการดำเนินงานพัฒนาโรงเรียนทั้งระบบภายใต้กรอบการดำเนินงานโควิด 19 และจะนำเสนอโมเดลที่เกิดจากการดำเนินจริง มีประสิทธิภาพต่อการพัฒนานักเรียน เช่น HOME PROGRAM และระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน ซึ่งโรงเรียนอื่นๆ สามารถนำไปต่อยอดได้
อาจารย์วันทนา ชูช่วย อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนมัธยมวัดนายโรง ได้กล่าวถึงที่มาและจุดเริ่มต้นของ HOME PROGRAM ในช่วงเสวนาว่า "จากภาวะที่เกิดการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้กระทรวงศึกษาธิการมีคำสั่งให้หยุดการเรียนการสอน แต่การหยุดอยู่บ้านอาจทำให้นักเรียนมีสุขภาวะที่ไม่ดีอันเกิดจากการนั่งดูทีวีซีรี่ส์และการเล่นเกมออนไลน์ กอปรกับได้เล็งเห็นถึงศักยภาพของโรงเรียนมัธยมวัดนายโรงทางไอซีที มี Google Class Room ให้เด็กๆได้ใช้เรียนออนไลน์ในช่วงสถานการณ์น้ำท่วมและสถานการณ์ PM 2.5 จึงได้มีความคิดริเริ่มระบบ HOME PROGRAM ขึ้น โดย H มาจาก Healthy (สุขภาพแข็งแรง), O มาจาก Online (ออนไลน์), M มาจาก Self Management (การจัดการตนเอง) และ E มาจาก Education (การเรียนรู้)
ระบบนี้เป็นการเรียนออนไลน์ที่ครูอาจารย์ที่ปรึกษาและเด็กๆพบปะกัน ติดต่อสื่อสารกันเพื่อให้เกิดการ Active Learning อีกทั้งตัวผู้ปกครองสามารถเข้าร่วมพบปะกันกับครูอาจารย์ หรือแม้กระทั่งตัวเด็กๆเองยังพบปะกันผ่านระบบ HOME PROGRAM นี้อีกด้วย ทำให้การเรียนรู้ในการเรียนออนไลน์อยู่ที่บ้านไม่น่าเบื่ออย่างที่คิด และทางโรงเรียนยังได้เสริมเพิ่มเติมเนื้อหาการเรียนรู้ที่อยู่นอกเหนือตำราเรียนอีกด้วย ทั้งหมดนี้ทำให้นักเรียนมีสุขภาวะที่ดีและก่อให้เกิดโครงการโรงเรียนสร้างเสริมสุขภาวะตามแนวทางการพัฒนาทั้งระบบ (Healthy School : The Whole System Approach)"
ดร.เจนการณ์ เพียงปราชญ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนมัธยมวัดนายโรง ได้กล่าวถึงการสานต่อโครงการโรงเรียนสร้างเสริมสุขภาวะว่า "สิ่งสำคัญคือผู้เรียนหรือวัยรุ่น ต้องต่อเนื่องในเรื่องการเรียนรู้ พร้อมทั้งปรับปรุง พัฒนาต่อยอด และท้ายสุดแล้ว การพัฒนาสุขภาวะทั้งระบบมีความจำเป็นที่จะต้องการความร่วมมือจากทุกส่วนที่เกี่ยวข้องทั้ง ผู้ปกครอง ผู้บริหารครู ชุมชน โดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน และทำให้เกิดการขับเคลื่อนเปลี่ยนแปลงลักษณะการทำงานขององค์กรที่มุ่งผลลัพธ์ให้เกิดพฤติกรรมสุขภาพทั้งกายใจ อารมณ์สังคม สติปัญญาที่ดี จึงต้องมีการขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่องและทุกคนต้องรวมพลังมุ่งเป้าหมายไปที่เดียวกัน คือการพัฒนาวัยรุ่นของเรานั่นเอง พลังของทุกฝ่ายจะช่วยให้เกิดการพัฒนาสร้างระบบที่เอื้อต่อการพัฒนาวัยรุ่นแบบยั่งยืนต่อไป"
ความคิดเห็น