ฝ่าวิกฤติโควิด”เกษตรฯ.”ชูธง ”5ยุทธศาสตร์เฉลิมชัย”ใช้แพลตฟอร์มรูปแบบใหม่ระบบสั่งซื้อล่วงหน้าออนไลน์เจาะตลาดจีน1,400ล้านคน



  พร้อมกลยุทธ์สร้างแบรนด์ทุเรียนไทยสำเร็จเป็นครั้งแรกเตรียมขึ้นเครื่องเช่าเหมาลำล็อตแรก27 เมษายนนี้ “อลงกรณ์”เผยจะมีการส่งออกแบบพรีออเดอร์อีกหลายประเทศเดือนหน้าพร้อมชื่นชมความร่วมมือระหว่างฟรุ้ทบอร์ด ผู้ประกอบการ สหกรณ์เมืองขลุงและจังหวัดจันทบุรี 

    นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในฐานะประธานที่ประชุมคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้(Fruit Board) เปิดเผยวันนี้(25เม.ย.)ว่า ในวันที่ 27 เมษายนนี้จะจัดส่งทุเรียนจากสหกรณ์เมืองขลุง จังหวัดจันทบุรี ไปจำหน่ายที่ประเทศจีนโดยเครื่องบินเช่าเหมาลำของสายการบินเซินเจิ้นแอร์ไลน์ที่สนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งเป็นการจำหน่ายผ่านระบบออนไลน์แบบสั่งซื้อล่วงหน้า​  ( Pre-Order ) ที่ลูกค้าจ่ายเงินผ่านระบบออนไลน์มาเรียบร้อยแล้ว จำนวน 20 ตัน

 “เป็นครั้งแรกของการจำหน่ายทุเรียนผ่านระบบ   Pre-Orderไปประเทศจีนซึ่งเป็นตลาดใหญ่สุดของผลไม้ไทยโดยเฉพาะทุเรียน เราต้องเจาะตลาดจีนที่มีประชากรกว่า1,400ล้านคนเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วขายทุเรียนได้กว่า6หมื่นล้านบาทด้วยแพลตฟอร์มใหม่ๆบนความร่วมมือระหว่างกระทรวงเกษตร กระทรวงพาณิชย์ บริษัทเอกชนและสหกรณ์ผลไม้เช่นสหกรณ์เมืองขลุง จังหวัดจันทบุรีและยังเป็นทุเรียนชุดแรกที่มีการสร้างแบรนด์ทุเรียนไทยในระดับสหกรณ์ผลไม้(Cooperative based Branding)ให้เป็นที่รู้จักในสายตาชาวโลกทำให้เกษตรกรชาวสวนทุเรียนและสหกรณ์ขายได้ราคาสูงขึ้นคู่ขนานไปกับการพัฒนาคุณภาพมาตรฐานของทุเรียนในระบบGAPและGMPภายใต้”5ยุทธศาสตร์เฉลิมชัย”และโมเดล”เกษตรผลิต-พาณิชย์ตลาด”ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในนโยบายการปฏิรูปไม้ผลทั้งระบบของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในฐานะประธานคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้(Fruit Board) และการขับเคลื่อนโมเดล”เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด”ร่วมกับนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฐ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีพาณิชย์ 


“ถือเป็นความสำเร็จทางนโยบายและการบริหารแบบทำได้ไวทำได้จริง หลังจากคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้(Fruit Board) ครั้งที่ 3/2564เมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมาเห็นชอบโครงการจำหน่ายผลไม้บนแพลตฟอร์มออนไลน์แบบสั่งซื้อล่วงหน้า(Pre-order)เพื่อเป็นกลไกการขายเชิงรุกทั้งในและต่างประเทศโดยมอบหมายให้คณะอนุกรรมการอนุกรรมการขับเคลื่อน E-Commerce กระทรวงเกษตรและสหกรณ์และฝ่ายเลขานุการของฟรุ้ทบอร์ดคือกรมส่งเสริมการเกษตรดำเนินการร่วมกับกรมส่งเสริมสหกรณ์ ภาคเอกชนและกระทรวงพาณิชย์ โดยล่าสุดกรมประชาสัมพันธ์จะมาช่วยเสริมทัพด้านการสื่อสารประชาสัมพันธ์และการผลิตสื่อออนไลน์ทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ นอกจากนี้จะมีการส่งออกภายใต้ระบบพรีออเดอร์อีกหลายประเทศในเดือนหน้าและขอแสดงความชื่นชมความร่วมมือระหว่างฟรุ้ทบอร์ด ผู้ประกอบการ สหกรณ์เมืองขลุงและจังหวัดจันทบุรี ที่สามารถเปิดฉากการส่งออกทุเรียนล็อตแรกได้สำเร็จอย่างรวดเร็วภายในเวลาไม่ถึง1เดือน

      นายกฤชฐา โภคาสถิตย์ ประธานคณะอนุกรรมการอนุกรรมการขับเคลื่อน E-Commerce กระทรวงเกษตรและสหกรณ์กล่าวว่า คณะอนุกรรมการฯ.ได้ประสานความร่วมมือกับภาครัฐและเอกชนเพื่อสร้าง New Ecosystem ในการ “สร้างแบรนด์ผลไม้ไทย” ในการส่งออกไปทั่วโลก

ผ่านช่องทาง Pre-orderเพื่อให้ผู้บริโภคเกิดการจดจำ ในฐานะที่เราเป็นผู้ส่งออกผลไม้ที่มีศักยภาพอันดับต้นๆของโลก เราสามารถสร้างแบรนด์ให้แต่ละสวน แต่ละฟาร์มผ่านกลไกสหกรณ์ และมีระบบ Logistics ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำที่แข็งแรง ผสานเข้ากับ ผู้ประกอบการที่มีความพร้อมในการส่งออกผ่านกระบวนการ Pre-Order ทางออนไลน์  นี่จะเป็นมิติใหม่ในการจำหน่ายและเพิ่มมูลค่าของผลไม้ไทยอย่างยั่งยืน”

   ทางด้านคุณเจียวหลิง ฟาน (Jiaoling Pan) กรรมการผู้จัดการบริษัท รอยัล ฟาร์ม กรุ๊ป จำกัด กล่าวถึงการเปิดรับ Pre-Oder เพื่อจำหน่ายทุเรียนไทยส่งขายไปที่ประเทศจีน ว่า ช่วงนี้เป็นฤดูกาลผลิตทุเรียน ทางบริษัทของเราต้องการได้ทุเรียนที่มีคุณภาพเพื่อส่งไปขายที่จีน และเมื่อได้รับความร่วมมือและการสนับสนุนจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในการสร้างแบรนด์ผลไม้ไทย โดยมีพันธมิตรคือสหกรณ์เมืองขลุง จังหวัดจันทบุรีร่วมคัดเลือกทุเรียนพันธุ์หมอนทองที่ได้คุณภาพ ก็ยิ่งมั่นใจในคุณภาพว่าลูกค้าชาวจีนของเราทุกคนจะได้รับประทานทุเรียนจากเมืองไทยที่มีคุณภาพระดับเกรดพรีเมียม รสชาติอร่อย และผ่านการคัดเลือกคัดกรองอย่างมีคุณภาพในทุกขั้นตอน และปลอดจากเชื้อโควิดด้วย เรียกว่าเป็นทุเรียนแบรนด์เมืองไทย ที่มาจากการสร้างแบรนด์ของเกษตรกรไทยอย่างแท้จริง 

“เมื่อชาวสวนและสหกรณ์สามารถรับรองคุณภาพทุเรียนให้ได้ เป็นแบรนด์ผลไม้ไทย และเราเป็นเจ้าแรกที่นำเอาผลไม้ไทยไปขายที่จีน ผ่านระบบ Pre-Order เราก็เลยเห็นว่าแนวทางนี้มีความมั่นคง เรามาถูกทางแล้วเพราะมีภาคและสหกรณ์ออกมารับรองคุณภาพด้วย ทำให้เรามั่นใจและสามารถส่งออกผลไม้ไปขายได้อย่างเต็มที่ คุณเจียวหลิง ฟาน กล่าว

ดังนั้น สิ่งที่อยากเห็นมากขึ้นคือการประชาสัมพันธ์ให้พี่น้องเกษตรกรเห็นถึงการขายทุเรียน และผลไม้ไทยทุกชนิดผ่านระบบ Pre-Order ที่สามารถทำได้จริง และได้กำไรด้วยเพราะเราสามารถกำหนดราคาขายที่แพงกว่าตลาดได้ หากสินค้าที่นำมาขายนั้นมีคุณภาพดีและผ่านการการันตี หรือได้รับการรับรองจากทางสหกรณ์และภาครัฐแล้ว และการซื้อทุเรียนล็อตนี้ทางบริษัทฯ เราก็ซื้อในราคาที่แพงกว่าราคาที่ขายในท้องตลาดจริงถึง 20 บาทด้วยกัน และถ้าเราสามารถประชาสัมพันธ์ให้ต่างชาติรับรู้และเข้าถึงผลไม้ไทยทุกชนิดที่เป็นความต้องการของตลาด ก็จะยิ่งเป็นการเปิดโอกาสและเป็นการเปิดเส้นทางการขายผลไม้ไทยสู่ตลาดโลกด้วยระบบออนไลน์ผ่านการ Pre-Order ซึ่งจะช่วยให้การจำหน่ายผลไม้ไทยเกิดความยั่งยืนด้วย 

คุณเจียวหลิง ฟาน บอกอีกว่ากระแสการสั่งซื้อทุเรียนของไทยผ่านระบบ Pre-Order ในขณะนี้ถือว่าได้รับกระแสการตอบรับที่ดีมาก ซึ่งลูกค้าชาวจีนให้ความสนใจและชื่นชอบทุเรียนจากเมืองไทยอยู่แล้ว และทางบริษัทฯและสหกรณ์เมืองขลุง ก็ได้มีการรับรองคุณภาพด้วย หากว่าทุเรียนที่ส่งถึงมือลูกค้าไม่เป็นไปตามที่ตกลงไว้ ทางบริษัทฯ ก็ยินดีรับเคลมและจัดส่งทุเรียนให้กับลูกค้าใหม่อีกครั้งเพื่อสร้างความมั่นใจว่าเรามีระบบการขายและการดูแลลูกค้าที่ได้มาตรฐาน ซึ่งตลาดลูกค้าชาวจีนนั้นมีมากถึง 1,400 ล้านคนทีเดียว


ด้านคุณอุไร เปี่ยมคูหา เลขานุการสหกรณ์เมืองขลุง จำกัด จังหวัดจันทบุรี กล่าวว่าสหกรณ์ของ เรามีสมาชิกกว่า 2,000 คน ซึ่งมีความตั้งใจที่จะให้สหกรณ์เป็นศูนย์กลางเพื่อการส่งออกและจำหน่ายผลไม้ไทย ร่วมกันสร้างแบรนด์ผลไม้ไทย โดยสหกรณ์เป็นแกนนำให้สมาชิกได้ขายผลไม้ในราคาที่สูง มีคุณภาพดี เป็นผลไม้เกรดดี พรีเมียมและสมาชิกสามารถอยู่ได้เพื่อรองรับอนาคตที่ผลไม้จะออกสู่ตลาดมากขึ้น ซึ่งเราอยากมีศูนย์ส่งออกเป็นของตนเอง มีรัฐบาลคอยให้การสนับสนุนช่วยเหลือด้านต่าง ๆ มีความร่วมมือจากทางจังหวัดและมีบริษัทที่มารับซื้อผลไม้จากเราเพื่อสร้างความมั่นใจได้ว่าผลไม้ที่ออกมาในแต่ละฤดูกาลจะสามารถจำหน่ายได้ในราคาที่ดี และมีคุณภาพตรงตามความต้องการของตลาด 

“การขายผ่านระบบออนไลน์ หรือ Pre-Order นี้ นับว่าตอบโจทย์ของเรามากเพราะช่วยให้เกษตรกรและสมาชิกของเราสามารถขายผลไม้ได้อย่างยั่งยืน มีตลาดรองรับที่แน่นอน ขอเพียงเราปลูกผลไม้ให้ได้มาตรฐานตามที่ตลาดต้องการ ซึ่งปีนี้เราก็ได้บุกเบิกขายทุเรียนพันธุ์หมอนทอง จันทบุรี ผ่านระบบ Pre-Order เป็นครั้งแรก และเป็นการผลักดันผลไม้แบรนด์ไทย คือทุเรียนให้เป็นที่รู้จักในสายตาชาวโลก” คุณอุไร กล่าวย้ำและว่าบริษัทฯ ที่มารับซื้อมีความตั้งใจมาก มีการแจ้งยอด Order เข้ามา และทางสหกรณ์กับสมาชิกก็ยินดีที่จะขายทุเรียนในรูปแบบนี้ เพราะเป็นโอกาสที่ดีและเราก็อยากจำหน่ายในรูปแบบนี้มานานแล้ว ก็ได้มีการไปตรวจแป้งทุเรียนที่ต้องผ่านเกณฑ์ตามที่บริษัทฯ กำหนดไว้ นั่นคือต้องมีแป้งไม่น้อยกว่า 32% ขึ้นไป ซึ่งทุเรียนที่เราจำหน่าย 20 ตันในนี้มีขนาดน้ำหนักแป้งตั้งแต่ 33-35% ขึ้นไป ซึ่งสมาชิกของเรา 20 คน ที่เป็นแกนในการส่งออกทุเรียน ทุกคนยินดีที่จะทำตามกฎระเบียบของสหกรณ์และตามที่บริษัทฯ กำหนดไว้เพื่อให้ได้ทุเรียนที่มีคุณภาพดี รสชาติหวาน และได้มาตรฐานตามที่ตลาดต้องการ


ขณะที่ คุณอรทัย เอื้อตระกูล อดีตผู้เชี่ยวชาญด้านระบบนำเข้า-ส่งออกสินค้าพืชและปัจจัยการผลิต  กรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า การจำหน่ายผลไม้ไทย ผ่านระบบออนไลน์แบบ Pre-Order ถือเป็นโอกาสที่ดีที่เราจะสามารถสร้างแบรนด์ผลไม้ไทย และส่งขายผลไม้ไทยได้มากยิ่งขึ้นกับในช่วงที่เกิดโรคระบาดโควิดนี้ แต่หัวใจสำคัญคือระบบโลจิสติกส์ที่จะต้องสอดประสานและเป็นสะพานในการเชื่อมต่อระหว่างสินค้าจากเกษตรกรไทยของเรา พี่น้องชาวไร่ ชาวสวนให้สามารถส่งขายสินค้าไปยังปลายทาง โดยเฉพาะตลาดต่างประเทศที่มีบริษัทฯ กลางมารับซื้อและจัดจำหน่ายผ่านการ Pre-Oder ซึ่งวันนี้เราได้เริ่มจัดส่งทุเรียนออกขายที่เมืองจีน ผ่านระบบการขนส่งโดยเครื่องบิน ซึ่งถือว่าดีมากเพราะช่วยในเรื่องของการรับประกันคุณภาพทุเรียนได้เมื่อส่งถึงมือผู้บริโภค หรือตลาดตามที่เราได้กำหนดไว้ แต่การจัดส่งโดยเครื่องบินก็มีราคาขนส่งที่แพงในระดับหนึ่ง ถ้ามีช่องทางการขนส่งในราคาไม่แพงมากจนเกินไป ก็จะส่งผลดีต่อการขายทุเรียนและผลไม้ไทยอื่น ๆ ได้อย่างมาก 

“แต่ขณะเดียวกันเราก็ต้องผลิตสินค้า หรือจำหน่ายผลไม้ไทยที่มีคุณภาพ เกรดพรีเมียมด้วยเพราะเมื่อเป็นการขายแบบ Pre-Order เราต้องคัดสินค้าอย่างดีให้กับลูกค้า ประกอบกับการมีระบบการจัดส่งขนส่งที่ดี มีบริษัทรับซื้อที่เชื่อถือได้และมีมาตรฐาน เมื่อทุกอย่างดำเนินไปในทิศทางเดียวกัน เป้าหมายเดียวกัน เส้นทางการจำหน่ายผลไม้ไทยไปสู่ตลาดโลกและเป็นที่ยอมรับของต่างชาติ ผ่านการ Pre-Order ก็จะประสบความสำเร็จได้เป็นอย่างดี” คุณอรทัย บอกไว้ในตอนท้าย 


                 --------------------------


ความคิดเห็น