วช. หนุน ม.อ. พัฒนาชุดตรวจโรค”เมลิออยโดสิส”ในแพะ พร้อมพัฒนาคุณภาพน้ำนมให้เกษตรกร

 23 ธันวาคม 2564 ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ : วช. ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยม โครงการวิจัยและพัฒนารูปแบบการตรวจวิเคราะห์โรคเมลิออยโดสิสในแพะ ภายใต้แผนงานวิจัย พัฒนาและขับเคลื่อนการเลี้ยงแพะของภาคใต้ ปีที่ 1 (พ.ศ. 2563 – 2565) เพื่อให้เกษตรกรใช้ตรวจหาโรคในแพะ เพื่อป้องกันการเสียชีวิต พร้อมทั้งการพัฒนาคุณภาพน้ำนมของเกษตรกร ณ จังหวัดพัทลุง ภายใต้การสนับสนุนทุนวิจัยจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิจัยและนวัตกรรม (อว.)

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ในฐานะหน่วยงานบริหารทุนวิจัย พร้อมด้วยหน่วยงานมหาวิทยาลัยชั้นนำของภาคใต้ ได้ปักหมุดหมายการยกระดับเศรษฐกิจภาคใต้ด้วยวิจัยและนวัตกรรมมาระยะหนึ่งแล้ว ตั้งเป้าหมายให้เกิดผลผลิตพร้อมใช้ และความคุ้มค่าเชิงเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อมและสังคม เช่นเดียวกับ ผลงานการวิจัยเพื่อยกระดับเกษตรกรผู้เลี้ยงแพะ ซึ่งขับเคลื่อนโดยมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ นับเป็นการหนุนเสริมให้เกิดการยกระดับด้านสัตว์เศรษฐกิจภาคใต้ให้มีความมั่นคงได้ 



ผศ.ดร.วรรณรัตน์ แซ่ซั่น อาจารย์ประจำคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในฐานะหัวหน้าโครงการ กล่าวว่า เชื้อเมลิออยโดสิส เป็นเชื้อแบคทีเรียกรัมลบ ซึ่งอาศัยอยู่ได้ทั้งในดิน น้ำ และแทรกตัวอยู่ในพืชที่ใช้เป็นอาหารให้กับแพะ แพะจึงสามารถสามารถติดเชื้อได้ง่าย และเป็นพาหะสู่คนเลี้ยง หากรักษาไม่ทันอาจทำให้เสียชีวิตได้ทั้งคนและแพะ โดยนักวิจัยคณะสัตวแพทยศาสตร์ ได้บูรณาการการทำงานร่วมกับ คณะแพทยศาสตร์ เภสัชศาสตร์ เทคนิคการแพทย์ ม.อ. และศูนย์ CDC เพื่อพัฒนาชุดทดสอบที่สะดวกรวดเร็ว และมีความแม่นยำ ใน 3 ชุดรูปแบบ คือ ชุดตรวจ IHA (Indirect hemagglutination assay) เพื่อหาตรวจหาภูมิคุ้มกันต่อเชื้อเมลิออยโดสิสให้แพะ การพัฒนาชุดตรวจ antigen ด้วยวิธี Lateral flow agglutination test เพื่อตรวจหาการติดเชื้อแบบเฉียบพลัน และการพัฒนาชุดตรวจวินิจฉัยเชื้อด้วยเทคนิค RT-PCR จากตัวอย่างปัสสาวะ หรือเลือดของแพะ 


ขณะนี้อยู่ในช่วงทดสอบความแม่นยำ ความรวดเร็ว (sensitivity) ของชุดตรวจทุกรูปแบบ ให้มีความสำเร็จรูปพร้อมใช้ เพื่อกระจายให้กับเกษตรกร โดยภาคใต้ได้มีการทำวิจัยเรื่องโรคเมดิออยโสิส ทั้งในคนและในสัตว์ เนื่องจากอัตราการเกิดโรคในแพะสู่คนในภาคใต้ พบว่ามีจำนวนเคสเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝน รวมทั้งมองหาแนวทางการตรวจด้วยวิธีอื่นแทนการตรวจจากเลือด อาทิ น้ำลาย เพื่อให้ง่ายต่อการใช้งานมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้จะช่วยสร้างความมั่นคง และมาตรฐานอุตสาหกรรมการเลี้ยงแพะของเกษตรกรให้มีคุณภาพ



ขณะเดียวกัน คณะทำงานดำเนินการขับเคลื่อนการวิจัยและนวัตกรรมของประเทศด้านสัตว์เศรษฐกิจ : ยกระดับเกษตรกรผู้เลี้ยงแพะ วช. นำโดย รศ.ดร.สุชน ตั้งทวีวิพัฒน์ ประธานคณะทำงานฯ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมผลการดำเนินกิจกรรมการวิจัย เรื่อง”การศึกษาและพัฒนาศักยภาพการเลี้ยงแพะนมและการผลิตน้ำนมแพะของเกษตรกรในภาคใต้” ของ ดร.ปิตุนาถ หนูเสน จากคณะทรัพยากรธรรมชาติ ม.อ. ร่วมกับ นายสันติ หมัดหมัน จากคณะเทคโนโลยีการเกษตร มรภ.สงขลา ภายใต้แผนงานวิจัยดังกล่าว ที่ศุภกิจฟาร์ม จังหวัดพัทลุง ในการปรับเปลี่ยนสูตรอาหารแพะ การการตรวจวิเคราะห์เพื่อพัฒนาคุณภาพน้ำนม สามารถต่อยอดเป็นน้ำนมดิบ สบู่ โลชั่น คุณภาพ สู่การพัฒนาเป็นนมพาสเจอร์ไรส์ มาตรฐาน GMP ร่วมกับ ม.อ. อีกด้วย

ความคิดเห็น