63 ปี วช. ขนงานวิจัยและนวัตกรรม โชว์ศักยภาพนักวิจัยไทย ในเวที NRCT Talk

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดเวทีเสวนา NRCT Talk เนื่องในวันคล้ายวันสถาปนา วช. ครบรอบ 63 ปี ภายใต้แนวคิด “63 ปี วช. มุ่งสู่สังคมอุดมปัญญา พัฒนาไทย ด้วยวิจัยและนวัตกรรม” เพื่อนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่โดดเด่นมาแสดงให้เห็นถึงศักยภาพและความสามารถของฝีมือนักวิจัยไทย 
โดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานเปิดการเสวนา ณ ศูนย์จัดการความรู้การวิจัย ชั้น 1 อาคาร วช.1 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กรุงเทพมหานคร 
เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2565 
มีผลงานที่ร่วมเสวนาบนเวที NRCT Talk จำนวน 3 ผลงาน ได้แก่ 1. อุปกรณ์ตรวจสอบความหอมในข้าวหอมมะลิแบบพกพาด้วยเทคนิคปัญญาประดิษฐ์ 
โดย ดร.อดิสร เตือนตรานนท์ แห่งสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) 2. การผลิตแพะเนื้อ แพะนม และการสร้างผู้ประกอบการใหม่ โดย รองศาสตราจารย์ ดร.ไชยณรงค์ นาวานุเคราะห์ และคณะ แห่งมหาวิทยาลัยขอนแก่น และ 3. เครื่องสกัดน้ำมันไข่แดงแบบเคลื่อนที่เพื่อแปรรูปไข่แดงเหลวเหลือทิ้งจากการแยกไข่ขาวของเกษตรกรรายย่อยให้เป็นวัตถุดิบสำหรับอุตสาหกรรมเวชสำอางมูลค่าสูงและเสริมอาหาร โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อาลักษณ์ ทิพยรัตน์ และคณะ แห่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี 
ผลงานชิ้นที่ 1 : อุปกรณ์ตรวจสอบความหอมในข้าวหอมมะลิแบบพกพาด้วยเทคนิคปัญญาประดิษฐ์ โดย ดร.อดิสร เตือนตรานนท์ แห่ง สวทช. เป็นอุปกรณ์สำหรับการตรวจสอบคุณภาพทางกลิ่นในข้าวหอมมะลิโดยการตรวจสอบสาร 2-อะซิติล-1-ไพโรลีน บนพื้นฐานการตรวจวัดด้วยจมูกอิเล็กทรอนิกส์ร่วมกับการเรียนรู้แบบปัญญาประดิษฐ์ที่สามารถตรวจวัดและแยกแยะกลิ่นจำเพาะได้อย่างแม่นยำ เครื่องมือดังกล่าวถูกพัฒนาขึ้นให้มีขนาดเล็ก พกพาสะดวก ใช้งานง่ายและรวดเร็วกว่าเครื่องมือวัดแบบอื่น ๆ ทำให้สามารถตรวจสอบความหอมข้าวได้ภายในเวลาน้อยกว่า 30 นาที
ผลงานชิ้นที่ 2 : การผลิตแพะเนื้อ แพะนม และการสร้างผู้ประกอบการใหม่ โดย รองศาสตราจารย์ ดร.ไชยณรงค์ นาวานุเคราะห์ และคณะ แห่งมหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งการเลี้ยงแพะสามารถขับเคลื่อนและสร้างความมั่นคงเศรษฐกิจฐานรากได้ในระยะเวลารวดเร็ว ก็สามารถขายได้ทั้งในรูปแบบเนื้อชำแหละหรือขายทั้งตัว ทางคณะนักวิจัยได้เน้นการนำเทคโนโลยีชีวภาพมาช่วยเพื่อยกระดับและมาตรฐานในการเลี้ยงแพะให้เป็นฟาร์มปลอดโรคที่ได้มาตรฐานของกรมปศุสัตว์ การพัฒนาการผลิตพ่อพันธุ์ แม่พันธุ์ที่มีคุณภาพด้วยวิธีการผสมเทียม การจัดการดูแลแพะเพื่อเพิ่มอัตราการติดลูก การเพิ่มมูลค่าเนื้อแพะด้วยการแปรรูปและเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร
ผลงานชิ้นที่ 3 : เครื่องสกัดน้ำมันไข่แดงแบบเคลื่อนที่เพื่อแปรรูปไข่แดงเหลวเหลือทิ้งจากการแยกไข่ขาวของเกษตรกรรายย่อยให้เป็นวัตถุดิบสำหรับอุตสาหกรรมเวชสำอางมูลค่าสูงและเสริมอาหาร โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อาลักษณ์ ทิพยรัตน์ และคณะ แห่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี 
เป็นการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในการสกัดด้วยตัวทำละลายควบแน่นภายใต้สภาวะต่ำกว่าจุดวิกฤตที่อุณหภูมิต่ำ เพื่อแปรรูปไข่ไก่เป็นสารสกัดน้ำมันไข่แดงและหรือโปรตีนไข่แดงที่มีมูลค่าสูงขึ้นและแก้ปัญหาผลผลิตไข่ไก่หน้าฟาร์มที่มีปริมาณล้นตลาด ราคาขายต่ำกว่าทุนหรือผันผวนได้
สำหรับเวทีเสวนา NRCT Talk จัดขึ้นในงานวันคล้ายวันสถาปนา วช. ครบรอบ 63 ปี เพื่อนำเสนอผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่มีศักยภาพจากฝีมือนักวิจัยไทย โดยผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่นำมาร่วมเสวนาในเวทีนี้จะร่วมจัดแสดงนิทรรศการ ชิม ช็อป เพลิน เดินตลาดงานวิจัย ซึ่งมีผลงานวิจัยพร้อมใช้ประโยชน์มาจัดแสดงอีกมากมาย โดยจัดขึ้นระหว่างวันที่ 25 – 28 ตุลาคม 2565 ณ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ถนนพหลโยธิน เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร ผู้สนใจสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://63years.nrct.go.th

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

สถาบันเทคโนโลยีแห่งสุวรรณภูมิและสถาบันในเครือสารสาสน์ ฉลองครบรอบ 60 ปี จัดงานประชุมวิชาการระดับชาติครั้งที่ 2 พร้อมกิจกรรมจิตอาสาทั่วประเทศ