วช. ติดดาว 12 ผลงานสิ่งประดิษฐ์ และนวัตกรรม ให้เยาวชนสายอุดมศึกษา ที่เข้าร่วมกิจกรรมบ่มเพาะ ในงาน “วันนักประดิษฐ์ 2566”
วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2566 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดพิธีมอบรางวัลติดดาวผลงานเด่นสายอุดมศึกษา ในกิจกรรม “การเพิ่มศักยภาพและมาตรฐานบุคลากรอุดมศึกษา : บ่มเพาะและแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อพัฒนาสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม” ระหว่างวันที่ 4-6 กุมภาพันธ์ 2566 ระหว่างงานวันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2566 ซึ่งวันนี้เป็นวันสุดท้าย
โดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานพร้อมมอบรางวัลฯ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพของนักเรียน นักศึกษาสายอุดมศึกษาให้เกิดแรงจูงใจในการคิดค้นผลงานประดิษฐ์และนวัตกรรมเพื่อใช้ในประเทศ ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา กรุงเทพมหานคร
รางวัลติดดาวของทีมอุดมศึกษาที่มีผลงานและการนำเสนอได้อย่างโดดเด่น เป็นต้นแบบการพัฒนาและการต่อยอดเป็นประดิษฐกรรมและนวัตกรรม สำหรับการส่งเสริมให้มีคุณภาพและมีมาตรฐานตามทิศทางวิจัยและนวัตกรรม จำนวน 12 ผลงาน ใน 4 กลุ่มเรื่อง ประกอบด้วย 1. ด้านการเกษตรและอุตสาหกรรม ได้แก่ ผลงานแก๊สไบโอมีเทนอัด (cbg) จากมูลจิ้งหรีด สร้างคุณค่าและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
กรณีศึกษาชุมชนสันติสุข จังหวัดสระแก้ว จาก มหาวิทยาลัยศรีปทุม วิทยาเขตชลบุรี และ ผลงานบาน่าเบรน จาก มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม 2. ด้านการสาธารณสุข สุขภาพ และเทคโนโลยีทางการแพทย์ ได้แก่ ผลงานการพยากรณ์โรคในฟันที่มีโรคปริทันต์ผ่านโครงข่ายประสาทเทียมแบบคอนโวลูชัน จากมหาวทิยาลัยเชียงใหม่
ผลงานการประยุกต์ใช้แบคทีเรียเซลลูโลส/ออกไซด์นาโนชีทสำหรับอุปกรณ์ติดตามสุขภาพแบบขับเคลื่อนด้วยตนเองจากกลไกไทรโบอิเล็กทริก จาก มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และผลงานประสิทธิผลในการลดละอองลอยปลายเครื่องดูดน้ำลายแรงดูดสูงในช่องปากแบบใหม่ จาก มหาวทิยาลัยเชียงใหม่ 3. ด้านการพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์และอุปกรณ์อัจฉริยะ พลังงานและสิ่งแวดล้อม ได้แก่ ผลงานการออกแบบ และพัฒนาระบบเครื่องสกัดสาร
ไมทราไจนีนคุณภาพสูงจากใบกระท่อมแบบพลังงานร่วม โดยใช้เทคนิคสนามไฟฟ้าพัลส์ และอัลตราโซนิค
ของ มหาวิทยาลัยพายัพ ผลงานเครื่องกรองของเสียพลังน้ำวน ของ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และผลงานอุปกรณ์ผลิตพลังงานไฟฟ้าขนาดเล็กไฮบริดไทรโบอิเล็กทริก-เทอร์โมอิเล็กทริกแบบยืดหยุ่น
บนพื้นฐานของผ้าคอตตอนและพอลิเมอร์นำไฟฟ้า ของ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และ 4. ด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ได้แก่ ผลงานชุดเครื่องประดับจากเส้นด้ายเศษเหลือ
ของ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผลงานคราฟติฟาย: แพลตฟอร์มเพื่อการสร้างสรรค์ศิลปหัตถกรรมร่วมกัน
ของ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผลงานชุดการเรียนรู้ตามแนวทางสะตีมศึกษา เรื่อง วงจรไฟฟ้าหรรษา ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์และทักษะการสื่อสาร ของ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และผลงานโครงการออกแบบและพัฒนาของที่ระลึกด้วยแรงบันดาลใจจากมวยพิมายเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวในอำเภอพิมายจังหวัดนครราชสีมา ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน
ความคิดเห็น