วิทยาลัยการอาชีวศึกษาปทุมธานี อบรมเสริมทักษะ Soft Skill ตกแต่งสไตล์ลอฟท์ และศิลปะการชงชาแบบไต้หวัน
วิทยาลัยการอาชีวศึกษาปทุมธานี (วกศ.ปทุมธานี) โดย ดร.ศันสนีย์ สายะสนธิ ผู้อำนวยวิทยาลัย ร่วมกับ บริษัท ควิกโคท โปรดักส์ จำกัด โดย นางสาวนุช ยิ่งไพบูลย์ ผู้จัดการแผนกคู่ค้าสัมพันธ์และประชาสัมพันธ์และมูลนิธิธรรมกิจไพศาล โดย ดร.บรินดา จางขจรศักดิ์ ประธานมูลนิธิ และผู้รับใบอนุญาตวิทยาลัยเทคโนโลยีไทย-ไต้หวัน (BDI) จัดทำโครงการอบรม "เพื่อเสริมทักษะ New Skill ด้าน Soft Skill ณ อาคารวิทยบริการ วกศ.ปทุมธานี
ดร.ศันสนีย์ กล่าวว่า การเตรียมคนให้พร้อมเข้าสู่ยุคศตวรรษที่ 21 และการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตให้กับคนทุกช่วงอายุ ถือเป็นภารกิจหลักของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) กระทรวงศึกษาธิการ เพื่อสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจและการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของกำลังคนในประเทศ เน้นการเสริม
เพิ่ม และพัฒนาทักษะในกลุ่มอุตสาหกรรมสำคัญของอนาคต กลุ่มอุตสาหกรรมที่เป็นฐานของประเทศ รวมถึงอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มสามารถฟื้นตัวได้เร็วหลังจากวิกฤตการณ์ COVD-19 เพื่อเป็นพื้นที่เปิดในการเชื่อมความต้องการด้านกำลังคนของภาคเอกชน ผู้ว่าจ้างงาน และเชื่อมโยงการพัฒนาทักษะความรู้ที่เป็นที่ต้องการจากภาคการศึกษา วกศ.ปทุมธานี ได้นำเสนอหลักสูตรใหม่ ๆ เพื่อเสริมทักษะและพัฒนาทักษะที่มีอยู่ หรือ Reskill / Upskill / New skill ในกลุ่มอุตสาหกรรมต่าง ๆ เพื่อให้นักเรียนนักศึกษา สามารถเข้าถึงการพัฒนาทักษะและเพิ่มโอกาสในการทำงานได้อย่างแท้จริง
วกศ.ปทุมธานี โดยงานพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอน ได้จัดโครงการอบรมเรื่อง "ศิลปะการฉาบตกแต่งแก้ไขพื้นผิวเดิมของอาคารด้วยปูนฉาบแต่งผิวเพื่อการสร้างสรรค์งานลอฟท์" และ "ศิลปะการชงชาและวัฒนธรรมการดื่มชา" ให้แก่ผู้เรียน ภายใต้ชื่อโครงการอบรม
"เพื่อเสริมทักษะ New Skill ด้าน Soft Skill" โดย "ศิลปะการฉาบตกแต่งแก้ไขพื้นผิวเดิมของอาคารด้วยปูนฉาบแต่งผิวเพื่อการสร้างสรรค์งานลอฟท์" เป็นการอบรมเพื่อให้มีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับหลักการและกระบวนการในการออกแบบ ก่อฉาบ และการตกแต่งสไตล์ลอฟท์ สามารถใช้เครื่องมือ อุปกรณ์ และการบำรุงรักษาเครื่องมือได้อย่างถูกต้อง สามารถนำความรู้และทักษะไปประกอบอาชีพในเชิงธุรกิจหรืออาชีพส่วนตัวได้
ส่วนศิลปะการชงชาและวัฒนธรรมการดื่มชา เป็นการฝึกสมาธิและสร้างความสุนทรีแห่งอารมณ์ เพื่อให้มีสุขภาพกาย-ใจที่ดี สร้างความชุ่มชื่นให้จิตใจ เป็นการพัฒนาพลังงานในทุกรูปแบบ ซึ่งในครั้งนี้มีการสาธิตวิธีการชงชาและวัฒนธรรมการดื่มชาแบบไต้หวัน 2 ชนิด คือ ชาอู่หลง และชาแดง (ชานางงาม)
การจัดโครงการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างทักษะ (New Skill) ศิลปะการฉาบตกแต่งแก้ไขพื้นผิวเดิมของอาคารด้วยปูนฉาบแต่งผิวเพื่อการสร้างสรรค์งานลอฟท์ เพื่อเสริมสร้างทักษะ (New Skill) ศิลปะการชงชาและวัฒนธรรมการดื่มชา ให้กับนักเรียน นักศึกษา ครูอาจารย์ วิทยาลัยการอาชีวศึกษาปทุมธานี และเพื่อสอดคล้องกับนโยบายและจุดเน้นประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 ของกระทรวงศึกษาธิการด้านการศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะอาชีพและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน
"ความร่วมมือที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ เป็นประโยชน์กับการอาชีวศึกษาอย่างยิ่ง เพราะภาคเอกชนมีความพร้อม มีมาตรฐานในการบริหารจัดการ นำเทคโนโลยีและอุปกรณ์ที่ทันสมัย พร้อมทั้งวิทยากรที่มีความชำนาญ มาให้นักเรียนนักศึกษา ได้ฝึกปฏิบัติเพื่อให้เกิดทักษะและประสบการณ์จริง สิ่งที่ตามมา นอกจากนักเรียนนักศึกษาจะมีความรู้เพิ่มขึ้นแล้ว ก็จะทำให้มีความพร้อมที่จะรับมือกับสถานการณ์ด้านสังคมและเศรษฐกิจที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว มีความพร้อมในการออกไปประกอบอาชีพ เป็นการสร้างคุณภาพ สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้เรียนเพื่อที่จะให้เป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีศักยภาพเพียงพอที่จะช่วยพัฒนาประเทศชาติสืบไป" ดร.ศันสนีย์ กล่าวปิดท้าย
ความคิดเห็น