วช. หนุนนวัตกรรมเส้นใยจากใบอ้อยสร้างมูลค่าเพิ่มจากวัตถุดิบเหลือใช้ทางการเกษตรสู่ผลิตภัณฑ์แฟชั่นจากธรรมชาติ

ปัญหามลพิษภายในประเทศทุกวันนี้ส่วนหนึ่งมาจากการเผาทำลายวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรที่มีคุณลักษณะแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่แต่ละภูมิภาค ทำให้อาจารย์นักวิจัยจากหลายสถาบันได้พยายามคิดค้นนวัตกรรมที่สามารถใช้ประโยชน์และสร้างมูลค่าเพิ่มจากวัสดุเหลือใช้เหล่านั้น รวมไปถึงนวัตกรรมผลิตภัณฑ์จากเส้นใยใบอ้อย โดยอาจารย์จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ( วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยใช้เทคโนโลยีและองค์ความรู้ผสมผสานกับภูมิปัญญาของชาวบ้านที่มีอยู่เดิมสร้างเป็นผลิตภัณฑ์สิ่งทอสร้างรายได้เพิ่มศักยภาพเศรษฐกิจฐานราก ควบคู่ไปกับการดูแลรักษาระบบนิเวศในชุมชน ซึ่งขณะนี้ได้นำกลไกการตลาดมาพัฒนาผลิตภัณฑ์ดีไซน์รูปแบบตามแนวแฟชั่นที่ลูกค้าต้องการเน้นเอกลักษณ์ความเป็นไทย
     
ดร.วิภารัตน์  ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. เป็นกลไกสำคัญของรัฐในการขับเคลื่อนให้การสนับสนุนงานวิจัย สิ่งประดิษฐ์คิดค้นหรือนวัตกรรมต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน และสามารถถ่ายทอดเป็นองค์ความรู้สู่ชุมชน รวมถึงการส่งเสริมพัฒนาคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม จากปัญหามลพิษจากการเผาวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรเป็นสิ่งที่หลายหน่วยงานได้ตระหนักและให้ความสำคัญ ในขณะที่นักวิจัยเองก็พยามคิดค้นนวัตกรรมเพื่อใช้ประโยชน์จากวัตถุดิบเหล่านี้ และผลิตภัณฑ์จากเส้นใยใบอ้อยก็เป็นอีกนวัตกรรมที่นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ได้นำองค์ความรู้สู่กระบวนการแปรรูปเส้นใยจากใบอ้อยมาสร้างมูลค่าเพิ่มสร้างเป็นผลิตภัณฑ์สิ่งทอหลายแบบ ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมของผู้ใช้ผลิตภัณฑ์ HANDMADE โดยมีการดีไซน์รูปลักษณ์ผลิตภัณฑ์ให้ดูทันสมัย ซึ่งขณะนี้มีการขยายผลต่อยอดองค์ความรู้ไปอย่างแพร่หลายในหลายชุมชน สามารถสร้างรายได้เสริมศักยภาพเศรษฐกิจในชุมชน และนวัตกรรมนี้เป็นหนึ่งใน 50 ชิ้นงานที่นำมาแสดงที่สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เนื่องในโอกาสวันสถาปนาครบรอบ 63 ปี เมื่อวันที่ 25-28 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา 
 
ดร.ศรัณย์ จันทร์แก้ว อาจารย์คณะอุตสาหกรรมสิ่งทอและออกแบบแฟชั่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร เปิดเผยว่าทางทีมวิจัยเล็งเห็นถึงความสำคัญตามคุณลักษณะของใบพืชที่มีเส้นใยสามารถนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ และสาเหตุที่เลือกใบอ้อยเนื่องจากมีไฟเบอร์ในปริมาณที่เยอะพอสมควร จากการรณรงค์ของภาครัฐเพื่อขจัดปัญหาฝุ่นละอองในอากาศจากการเผาใบอ้อย แม้ว่าขณะนี้ทางโรงหีบอ้อยจะรับซื้อใบอ้อยสดนำไปเป็นเชื้อเพลิงในโรงงาน แต่ก็ได้เสนอ
ทางเลือกให้กับเกษตรกรชาวไร่อ้อยหากนำใบอ้อยเข้าสู่กระบวนการแปรรูปสร้างผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ จะได้มูลค่าสูงขึ้นหลายเท่าตัว สามารถพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์สร้างรายได้ให้กับชาวชุมชน โดยการเลือกวัตถุดิบใบอ้อยที่นำมาแปรรูปจะใช้ใบที่ไม่อ่อนหรือแห้งจนเกินไปจากนั้นดึงก้านออกก่อนนำไปหมักเป็นเวลา 4 เดือน สำหรับพันธุ์อ้อยที่นิยมนำใบมาใช้คือ พันธุ์ขอนแก่น  สุพรรณบุรี และลำปาง โดยเฉพาะพันธุ์ขอนแก่นจะมีลักษณะใบใหญ่หนา ไฟเบอร์เยอะ เมื่อครบระยะเวลาหมักจะนำมาปั่นผสมกับฝ้ายจากนั้นนำไปย้อมสีธรรมชาติใช้เวลาต้มประมาณ 30 นาที สาเหตุที่นำมาปั่นทอผสมกับฝ้ายจะทำให้เนื้อผ้านุ่มเป็นเงางาม นำมาทำเป็นผลิตภัณฑ์หลายประเภททั้งเสื้อผ้า กระเป๋า หมวก รองเท้า โดยมีการออกแบบดีไซน์ให้เป็นไปตามแฟชั่นที่ตลาดต้องการ
   
ปัจจุบันนี้ได้รับความสนใจจากชาวบ้านมีการรวมกลุ่มกันจัดตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชนที่ทำผลิตภัณฑ์สิ่งทอ จากเส้นใยใบอ้อย อย่างเช่นวิสาหกิจชุมชนกลุ่มสตรีทอผ้า ตำบลเขาสามสิบ อำเภอเขาฉกรรจ์ จังหวัดสระแก้ว จากเดิมทำผ้าทอขายได้เมตรละ 100 บาท เมื่อเสริมด้วยนวัตกรรมการพัฒนาเส้นใยจากใบอ้อย ผ้าที่ทอสามารถขายได้ในราคาเมตรละ 350-600 บาท โดยในปัจจุบันได้เปิดจำหน่ายในช่องทางออนไลน์ภายใต้ ชื่อแบรนด์ NATHA สำหรับใครที่สนใจนวัตกรรมหรือองค์ความรู้นี้สามารถติดต่อสอบถามได้ โทร 0945653256 

ความคิดเห็น