วช. เข้าร่วมแถลงเปิดตัวสื่อสร้างรรค์ “KOYORI หลอมรวม สืบสาน งานหัตถศิลป์ ปี 2023”

เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2567 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ(วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เข้าร่วมงานแถลงข่าวเปิดตัวสารคดี “KOYORI หลอมรวม สืบสาน งานหัตถศิลป์ ปี 2023” โดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานเปิดงานแถลงข่าวและแถลงนโยบายเพื่อขับเคลื่อนประเทศในด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์  วิจัยและนวัตกรรม และเรื่อง Soft Power พร้อมด้วยผู้บริหารจากบริษัท ยิบอินซอย จำกัด ผู้บริหารจากสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) ตัวแทนจากสถานีโทรทัศน์ ThaiPBS และผู้ทรงคุณวุฒิ เข้าร่วมงาน ณ Training Center บริษัท ยิบอินซอย จำกัด
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ได้กล่าวเปิดงานว่า วช. ได้รับมอบหมายจาก นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ให้เป็นตัวแทนในงานแถลงข่าวหนังสารคดี Koyori หลอมรวม สืบสาน งานหัตถศิลป์ 2023 ซึ่งทางท่านรัฐมนตรีได้มีการแถลงนโยบายเพื่อขับเคลื่อนประเทศในด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ที่มุ่งเน้นเพื่อความเป็นเลิศ ความมั่นคงของชีวิตและเศรษฐกิจ ด้วยการประสานการดำเนินงาน ด้านงานวิจัย และนวัตกรรมในประเด็นสำคัญของประเทศ
 
 วช. พร้อมตอบรับสนองนโยบายดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง โดยให้การสนับสนุน “โครงการการยกระดับผลิตภัณฑ์หัตถกรรมชุมชนในภาคเหนือตอนบนด้วยนวัตกรรมสร้างสรรค์และทุนทางวัฒนธรรมและทรัพยากรท้องถิ่นสู่การพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากในยุควิถีชีวิตใหม่ : KOYORI Project” ซึ่งสามารถผลักดันการนำเทคนิคและกระบวนการพัฒนาทักษะ เสริมสร้างศักยภาพของผู้ประกอบการหัตถกรรมพื้นเมือง รวมทั้งการใช้กระบวนการเฉพาะในการพัฒนาและเพิ่มทักษะเฉพาะกลุ่ม นอกจากนี้ กลุ่มผลิตภัณฑ์หัตถกรรมพื้นเมืองและวัฒนธรรมเชิงสร้างสรรค์ ได้รับการส่งเสริมและสร้างกระบวนการเพิ่มประสิทธิภาพของการบริหารกิจการของกลุ่มหัตถกรรมพื้นเมือง เพื่อยกระดับมูลค่าของผลิตภัณฑ์หัตถกรรม และ วช. ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของงานหัตถศิลป์สู่การพัฒนา เป็นสิ่งที่สร้างโอกาส สร้างเศรษฐกิจ และการยอมรับในด้านทุนวัฒนธรรมของประเทศ โดยจะร่วมผลักดัน และขับเคลื่อนให้เกิดการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับทุนทางวัฒนธรรมมากยิ่งขึ้น พร้อมกับสนับสนุนให้ผู้ประกอบการ ได้สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์หรือสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และเข้ากับเทรนด์ของโลกในอนาคต 
โครงการ KOYORI PROJECT เกิดจากความร่วมมือกันระหว่างสมาคมวัฒนหัตถศิลป์ล้านนาร่วมกับหน่วยงานสนับสนุนจากภาคีเครือข่ายสำคัญ ได้แก่ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ(วช.) องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย(ThaiPBS) และพันธมิตรอีกหลายหน่วยงาน โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ในชุมชนให้เป็นของใช้ ของตกแต่ง เครื่องประดับ และเครื่องแต่งกาย - เครื่องนุ่งห่มต่าง ๆ ที่เข้ากับความต้องการของคนในยุคดิจิทัลให้เป็นสากลมากขึ้น มีทั้งงานผ้าทอ งานจักสาน งานหัตถกรรม งานปั้น งานเซรามิก ฯลฯ ของ 8 จังหวัดภาคเหนือ เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แม่ฮ่องสอน เชียงราย แพร่ น่าน พะเยา
 
 อีกทั้งภายในงานยังมีกิจกรรมการรับชม Teaser ของสารคดี KOYORI 2023 ที่จะแพร่ภาพทางสถานีโทรทัศน์ ThaiPBS และการเสวนา Mini Talk พิเศษในหัวข้อ “หัตถกรรมท้องถิ่นจะเป็นทุนวัฒนธรรมได้อย่างไร”  โดยโครงการดังกล่าวจะได้ร่วมแสดงผลงาน และจัดนิทรรศการในงานเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2567 (Bangkok Design Week 2024) ที่จะจัดขั้นในระหว่างวันที่ 27 มกราคม - 4 กุมภาพันธ์ 2567 ณ อาคารอนุรักษ์ บริษัท ยิบอินซอย จำกัด อีกด้วย

ความคิดเห็น