กพร. เปิดตัว “เครื่องคัดแยกซากแผงเซลล์แสงอาทิตย์” แห่งแรกในไทย ชูต้นแบบเศรษฐกิจหมุนเวียน ดันภาคอุตสาหกรรมสู่ความยั่งยืน
กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) เปิดตัวเครื่องคัดแยกซากแผงเซลล์แสงอาทิตย์ที่ผ่านกระบวนการทางความร้อน ประสิทธิภาพสูงและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นแห่งแรกในประเทศไทย พร้อมถ่ายทอดต้นแบบให้ภาคอุตสาหกรรมนำไปประยุกต์ใช้ มุ่งสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และสังคมคาร์บอนต่ำ สร้างความยั่งยืนให้ภาคอุตสาหกรรม ในงานสัมมนาวิชาการประจำปีของ กพร. Innovation in Raw Materials Conference 2024: Innovation Synergy Driving Circular Economy ผสานพลังนวัตกรรมนำความคิด ยกระดับเศรษฐกิจหมุนเวียน
วันนี้ (28 พฤศจิกายน 2567) ดร.อดิทัต วะสีนนท์ อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดงานสัมมนาวิชาการ “Innovation in Raw Materials Conference 2024: Innovation Synergy Driving Circular Economy ผสานพลังนวัตกรรมนำความคิด ยกระดับเศรษฐกิจหมุนเวียน” ของ กพร. ณ ศูนย์วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีรีไซเคิล อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ โดยกล่าวว่า เพื่อขับเคลื่อนนโยบายการปฏิรูปอุตสาหกรรมสู่เศรษฐกิจยุคใหม่ ของนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) จึงได้ผลักดันเรื่องการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า เกิดประโยชน์และมูลค่าเพิ่มสูงสุด ตามหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ซึ่งสอดรับกับนโยบาย MIND ของ กระทรวงอุตสาหกกรรมที่มุ่งพัฒนา “อุตสาหกรรมดี อยู่คู่กับชุมชนอย่างยั่งยืน” และสอดคล้องกับแนวคิดในการเปลี่ยนขยะเป็นทรัพยากร หรือที่เรียกว่า “การทำเหมืองแร่ในเมือง (Urban Mining)” ซึ่งเป็นแนวทางสำคัญที่จะช่วยแก้ไขปัญหาขยะหรือของเสียทั้งจากภาคอุตสาหกรรมและครัวเรือนได้อย่างยั่งยืน สามารถสร้างคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่ดีให้กับสังคม และสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ จากการเปลี่ยน Waste to Value ด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี
ที่ผ่านมา กพร. ได้ดำเนินการส่งเสริม พัฒนา และยกระดับผู้ประกอบการด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี ควบคู่ไปกับการส่งเสริมให้มีการประยุกต์ใช้หลักการเศรษฐกิจหมุนเวียนในองค์กรอย่างต่อเนื่อง จนถึงปัจจุบัน กพร. ได้สร้างสรรค์เทคโนโลยีรีไซเคิลและนวัตกรรมวัตถุดิบ รวมกว่า 85 ชนิด โดยได้ถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีให้แก่ผู้ประกอบการ นักลงทุน และผู้ที่สนใจ เฉลี่ยกว่า 400 รายต่อปี สร้างธุรกิจใหม่ (Start-up) และช่วยยกระดับผู้ประกอบการ (หรือ Level-up) ให้มีความสามารถก้าวทันโลกและเติบโตได้อย่างยั่งยืน
ผลงานที่สำคัญในปีนี้ กพร. ได้ขยายผลและต่อยอดผลงานที่ผ่านมา จนกระทั่งได้ออกแบบและพัฒนา “เครื่องคัดแยกซากแผงเซลล์แสงอาทิตย์ที่ผ่านกระบวนการทางความร้อน” โดยสามารถคัดแยกส่วนประกอบต่าง ๆ ในซากแผงเซลล์แสงอาทิตย์ที่ผ่านกระบวนการทางความร้อนได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วยกระบวนการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สามารถคัดแยกวัตถุดิบกลับมาใช้ประโยชน์ได้มากกว่าร้อยละ 80 ได้แก่ ลวดนำไฟฟ้า เศษกระจก และแผ่นซิลิกอนที่มีโลหะเงินเป็นองค์ประกอบ ซึ่งเครื่องคัดแยกนี้นับเป็นเครื่องจักรต้นแบบเครื่องแรกในประเทศไทย
“ความสำเร็จครั้งนี้ จะช่วยให้ กพร. เป็น “ศูนย์การเรียนรู้ด้านเทคโนโลยีรีไซเคิลซากแผงเซลล์แสงอาทิตย์ที่ครบวงจร” เพื่อเป็นกลไกสำคัญในการส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการอุตสาหกรรมรีไซเคิลซากแผงเซลล์แสงอาทิตย์ และจะช่วยแก้ไขปัญหาซากแผงเซลล์แสงอาทิตย์ในประเทศที่จะมีปริมาณเพิ่มขึ้น จากหลักพันตันต่อปี เป็นหลักหมื่นตันต่อปี ภายในระยะ 3-5 ปีข้างหน้า” ดร.อดิทัต กล่าว
นอกจากนี้ ยังมีตัวอย่างผลงานที่ประสบความสำเร็จในปีนี้ เช่น การออกแบบและพัฒนาอุปกรณ์ต้นแบบในการคัดแยก Black Mass และวัสดุจากแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนเสื่อมสภาพที่ใช้ในยานยนต์ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ โดยสามารถคัดแยก Black Mass คุณภาพสูงจากแบตเตอรี่ฯ ได้กว่าร้อยละ 90 เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับการรีไซเคิลโลหะต่อไป ซึ่งตอบโจทย์ที่ประเทศไทยกำลังมุ่งเน้นการเป็นศูนย์กลางด้านการผลิตและใช้งานยานยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle: EV) ในยุคยานยนต์สมัยใหม่ที่ต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ตามรายงานของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) การพัฒนาวัตถุดิบคุณภาพสูงเพื่อเพิ่มมูลค่าแร่ โดยได้พัฒนาและต่อยอดเทคโนโลยีการสังเคราะห์ซีโอไลต์ 13 เอ็กซ์ (Zeolite13X) จากหินพอตเทอรี สำหรับใช้เป็นวัสดุดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ สำหรับอุตสาหกรรมผลิตก๊าซและอาหารแปรรูป จากหินพอตเทอรี 300 บาทต่อตัน เมื่อผลิตเป็น Zeolite13X จะมีราคากว่า 200,000 บาทต่อตัน การพัฒนาสถานประกอบการให้มีการประยุกต์ใช้หลักการเศรษฐกิจหมุนเวียนในองค์กร เช่น การ Upcycle เศษไม้พาเลท และเศษไม้ Pressboard ที่ใช้ในการผลิตหม้อแปลงไฟฟ้า โดยนำมาผลิตเป็นเฟอร์นิเจอร์และของใช้ โดยผลการดำเนินงานในปีนี้ สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจได้ถึง 1,000 ล้านบาทต่อปี และได้มีส่วนร่วมในการลดคาร์บอนได้กว่า 19,600 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี
สำหรับงานสัมมนาวิชาการ “Innovation Synergy Driving Circular Economy ผสานพลังนวัตกรรมนำความคิด ยกระดับเศรษฐกิจหมุนเวียน” ที่จัดขึ้นในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อผลักดันนวัตกรรมและเทคโนโลยีสู่การผลิตวัตถุดิบ (ทดแทน/ขั้นสูง) ในเชิงพาณิชย์ ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการสามารถนำหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียนไปประยุกต์ใช้เพื่อพัฒนาองค์กร โดยมีการบรรยายมาตรฐานใหม่ที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจหมุนเวียน การสร้างนวัตกรรมด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล และได้รับเกียรติจากบริษัทที่มีการดำเนินงานที่ดีในด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน มาร่วมบรรยาย และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ รวมทั้งมีการเผยแพร่นวัตกรรมและผลงานวิจัยที่ประสบความสำเร็จ นอกจากนี้ ยังมีการจัดแสดงนิทรรศการเผยแพร่ตัวอย่างการดำเนินงานของสถานประกอบการที่มีการดำเนินการดีเด่นด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน ทั้งนี้ สามารถดาวน์โหลดเอกสารประกอบการสัมมนาหรือติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://innovation.dpim.go.th
ความคิดเห็น