sacit สืบสานคุณค่างานผ้าทอโบราณถิ่นอีสานใต้ จากภูมิปัญญาอันทรงคุณค่าฝีมือครูศิลป์ของแผ่นดิน ครูช่างศิลปหัตถกรรม

นายภาวี โพธิ์ยี่ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมคุณค่าหัตถศิลป์ รักษาการณ์ผู้อำนวยการ สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย(องค์การมหาชน) หรือ sacit เปิดเผยว่า sacit มีภารกิจในการสืบสานงานศิลปหัตถกรรมไทยถือเป็นมรดกทางวัฒนธรรมอันทรงคุณค่าของชาติ ที่มีกระบวนการสร้างสรรค์งานผ่านช่างฝีมือที่มีความรู้ ความชำนาญจากรุ่นสู่รุ่น 
หากแต่ความรู้เหล่านี้ไม่ได้มีการเก็บรวบรวมไว้ให้เป็นรูปธรรม  ก็อาจจะลบเลือนและสูญหายไปตามกาลเวลา โดยที่ผ่านมา sacit เล็งเห็นถึงความสำคัญต่อการสืบสานและรักษาภูมิปัญญาและเทคนิคเชิงช่างชั้นครูให้คงอยู่คู่กับแผ่นดินไทย ได้ดำเนินการลงพื้นที่ทั่วประเทศเพื่อเฟ้นหาช่างฝีมือที่มีความรู้ความสามารถในงานหัตถศิลป์ไทยอันทรงคุณค่า
 นำมายกย่องเชิดชูเกียรติเป็นครูศิลป์ของแผ่นดิน ครูช่างศิลปหัตถกรรม และทายาทช่างศิลปหัตถกรรม ซึ่งจะเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการเผยแพร่คุณค่าความเป็นไทยในงานศิลปหัตถกรรม ไปสู่ผู้สนใจในงานศิลปหัตถกรรมทั้งเยาวชนและประชาชนได้รู้จักอย่างกว้างขวาง ตลอดจนเป็นการเก็บรักษาข้อมูลภูมิปัญญางานศิลปหัตถกรรมไทยชั้นครูเหล่านี้ไว้เป็นแหล่งองค์ความรู้เพื่อถ่ายทอดแก่คนรุ่นหลังต่อไป 
นายภาวีกล่าวต่อไปว่า การจัดกิจกรรมนำคณะสื่อมวลชนเดินทางลงพื้นที่ศึกษางานศิลปหัตถกรรมไทยในถิ่นอีสานใต้   ณ จังหวัดสุรินทร์และบุรีรัมย์ ครั้งนี้ sacit ได้รวบรวมสุดยอดงานผ้าทออันวิจิตรงดงามและทรงคุณค่า โดยฝีมือครูศิลป์ของแผ่นดิน และครูช่างศิลปหัตถกรรม ได้แก่ งานผ้าโฮลโบราณ  ผ้ายกทองโบราณ และผ้าซิ่นตีนแดง    อีกทั้งยังเปิดโอกาสให้สื่อมวลชนได้ชื่นชม เรียนรู้วิธีการ เทคนิค การสร้างสรรค์ผลงานที่เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น  ที่นับวันหาดูได้ยากแล้วในปัจจุบัน ไปเผยแพร่ให้ประชาชนได้รับรู้และเกิดความรักและชื่นชม รวมทั้งเกิดภาคภูมิใจในภูมิปัญญาและคุณค่าอันงดงามของหัตถศิลป์ไทย   
          งานผ้าโฮลแบบโบราณ  ของครูสุรโชติ ตามเจริญ ครูศิลป์ของแผ่นดิน ปี 2559 ผู้อนุรักษ์การทอ ผ้าโฮลแบบโบราณด้วยภูมิปัญญาชาวไทยเชื้อสายเขมรที่มีความชำนาญในการมัดลายและการย้อมสี  จากธรรมชาติ ผสานกับภูมิปัญญาดั้งเดิมที่ช่วยให้สีติดสวยโดยใช้ครั่งย้อมร้อนใส่ใบเหมือดแอ ใบชงโค 
 ใบมะขามสีเหลือง ย้อมด้วยมะพูดผสมกับแก่นเข จนได้เป็นสีเหลืองทองอร่ามตา และย้อมครามด้วย  
 วิธีย้อมเย็น ทำให้ยังคงรักษาเอกลักษณ์ของผ้าโฮลที่มีสีสดสวย และลวดลายมัดหมี่ที่โดดเด่นของภาคอีสาน  โดยรักษาเอกลักษณ์ของลวดลายกรวยเชิงลายหมาแหงน ลายปะกากะตึบเครือ ลายดอกทับทิม และลาย   พุ่มข้าวบิณฑ์ ไว้ได้อย่างสมบูรณ์ 
          งานผ้ายกทองโบราณ ของ
ครูวีรธรรม ตระกูลเงินไทย ครูศิลป์ของแผ่นดิน ปี 2554 ผู้นำความรู้การออกแบบลวดลายไทยและลวดลายชั้นสูงแบบราชสำนักโบราณมาประยุกต์ผสมผสานเข้ากับการทอแบบพื้นบ้านภูมิปัญญาดั้งเดิมของบรรพบุรุษ ฟื้นฟูภูมิปัญญาการทอผ้าด้วยทอมือ และการย้อมไหมด้วยสีจากวัสดุธรรมชาติ 
จนสามารถจัดตั้งเป็นกลุ่มทอผ้า "จันทร์โสมา" รังสรรค์เป็นผ้ายกทองที่มีลวดลายสวยงามอย่างน่ามหัศจรรย์และเทคนิคการทอผ้าที่เป็นเอกลักษณ์สร้างชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก รวมถึงการเลือกเส้นไหมน้อยที่เล็กและเบาบางนำมาผ่านกรรมวิธี
การฟอก แล้วย้อมด้วยสีธรรมชาติ ในแม่สีหลัก 3 สี คือ สีแดงจากครั่งสีเหลืองจากแก่นแกแล, เปลือกประโหด, เปลือกทับทิม และสีครามจากต้นคราม และยังได้คิดคันปรับปรุงให้สีธรรมชาติที่สดใส มีเฉดสีหลากหลายขึ้น อีกทั้ง คิดค้นเทคนิคการย้อมสีครามขึ้นใหม่ และได้รับการยอมรับว่าเป็นสีครามที่สวยที่สุดเฉดสีหนึ่งในการย้อมสีธรรมชาติอีกด้วย 
งานทอผ้าไหมมัดหมี่ (ซิ่นตีนแดง) ของครูรุจาภา เนียนไธสง ครูช่างศิลปหัตถกรรม ปี 2557  ผู้มีความชำนาญในการทอผ้าไหมมัดหมี่ หรือ ผ้าซิ่นตีนแดง ผ้าทอโบราณอันวิจิตรงดงามของกลุ่มอำเภอพุทไธสง จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นผ้าที่ทอสร้างลวดลายด้วยวิธีการมัดหมี่ 
เป็นการมัดย้อมเส้นด้ายพุ่งเป็นลวดลายก่อนนำไปทอเป็นผืนผ้า มีความโดดเด่นอยู่ที่หัวซิ่น และตีนซิ่นสีแดงสด ตัวซิ่นในสมัยก่อนเป็นผ้ามัดหมี่นิยมใช้โครงสีเข้ม หรือสีเม็ดมะขาม ทอเป็นลวดลายโบราณ ด้วยความสวยงามและมีเอกลักษณ์อันโดดเด่นของผ้าซิ่นตีนแดง ทำให้ยังคงได้รับความนิยมจนถึงปัจจุบัน 
sacit มีเป้าหมายสำคัญในการสืบสานองค์ความรู้งานศิลปหัตถกรรมไทยจากผู้สร้างสรรค์งานศิลปหัตถกรรมไทยไปยังกลุ่มคนรุ่นใหม่และสังคมไทย โดยมีการจัดเก็บและรวบรวมข้อมูลองค์ความรู้ในรูปแบบ sacit Archive ที่ครอบคลุมงานศิลปหัตถกรรมไทยกว่า 3,000 รายการ ในกลุ่มเครื่องทอ 
เครื่อง จักสาน เครื่องไม้ เครื่องดิน เครื่องโลหะ เครื่องกระดาษ เครื่องหนัง เครื่องรัก รวมถึงเครื่องอื่นๆ อาทิ  งานเทริดมโนราห์ งานกระจกเกรียบ เป็นต้น เพื่อรองรับความต้องการของผู้ประกอบการ ผู้ผลิต นักออกแบบ นักเรียน นักศึกษา ที่ต้องการใช้ประโยชน์ในการศึกษาค้นคว้าและวิจัย หรือนำข้อมูลองค์ความรู้ไปใช้พัฒนาตนเองและผลิตภัณฑ์ช่วยสร้างโอกาส สร้างเครือข่าย สร้างรายได้ ตลอดจนผลักดันให้ sacit เป็นศูนย์กลางองค์ความรู้และอนุรักษ์สืบสานคุณค่างานศิลปหัตถกรรมไทย (Art and Craft Center) และการนำงานศิลปหัตถกรรมไทยมาต่อยอดเชิงพาณิชย์ เพื่อให้ชุมชนเกิดความกินดีอยู่ดีอย่างยั่งยืนต่อไป 

ความคิดเห็น