อว. นำคณะนักวิจัยเข้าร่วมการประชุม STS forum 2022 ณ เมืองเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น

ศ.ดร.นพ. สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม นำคณะผู้บริหารกระทรวง อว. และคณะนักวิจัยเข้าร่วมการประชุม STS forum 2022 (Science and Technology in Society forum) ระหว่างวันที่ 1 – 4 ตุลาคม 2565 ณ เมืองเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น ประกอบด้วย สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.) 
 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)  สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)  สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)  ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ  ศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี  มหาวิทยาลัยมหิดล  และราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์  โดย ศ.ดร.นพ. สิริฤกษ์ฯ ได้เป็นผู้แทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา 
วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เข้าร่วมการประชุม S&T Ministers’ Roundtable เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2565 เป้าหมายของการเข้าร่วมประชุมเพื่อนำความท้าทายใหม่ๆ ของผู้นำด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อให้ได้รับข้อมูลเชิงลึกและมุมมองใหม่ๆ ตลอดจนรับทราบถึงแนวโน้มและทิศทางความเคลื่อนไหวด้านวิทยาศาสตร์ การวิจัย และนวัตกรรมของโลก 
โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมมากกว่า 1,000 คน ประกอบด้วยผู้บริหารระดับรัฐมนตรี ผู้บริหารภาคเอกชน ผู้บริหารองค์กรให้ทุน ผู้บริหารองค์กรด้านวิทยาศาสตร์ ผู้บริหารสถาบันการศึกษา นักวิทยาศาสตร์ นักวิชาการ และนักธุรกิจ จากประเทศต่างๆ    ทั่วโลก โดยในปีนี้นายฟูมิโอะ คิชิดะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ได้กล่าวปาฐกถาในช่วงพิธีเปิดการประชุมในหัวข้อเรื่อง “World in 2022 -- What do we need from S&T?”
ดร. วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้เข้าร่วมการประชุม STS forum 2022 ที่จัดขึ้นพร้อมกับได้เข้าร่วมกิจกรรม “The 12th Funding Agency Presidents' Meeting (FAPM)” ซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 3 ตุลาคม 2565 ภายใต้งาน STS forum 2022 โดยในปีนี้มุ่งเน้นการหารือร่วมกันในประเด็น “International Research Cooperation in Time of Crises” 
ซึ่ง ดร. วิภารัตน์ฯ ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์เกี่ยวกับบทบาทของ วช. ในการให้ทุนที่รองรับการเปลี่ยนแปลงและตอบสนองต่อการแก้ไขปัญหาวิกฤติของประเทศในประเด็นต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านการแพทย์ สาธารณสุข สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคม  โดยการประชุม FAPM ในครั้งนี้ได้จัดขึ้นเป็นปีที่ 12 ติดต่อกัน
 มีผู้บริหารจากองค์กรให้ทุนวิจัยหลักในระดับชาติและนานาชาติ จำนวนถึง 46 หน่วยงานจาก 25 ประเทศทั่วโลก 
ในส่วนการสร้างแรงบรรดาลใจให้แก่นักวิจัยรุ่นใหม่ที่จะมีโอกาสได้พบปะหารือกับนักวิทยาศาสตร์ที่ได้รับรางวัลโนเบล  วช. ได้สนับสนุนทุนให้แก่นักวิจัยรุ่นใหม่ภายใต้โครงการ STS forum Young Leaders Program จำนวน 5 ท่าน 
เพื่อเข้าร่วมการประชุม STS forum 2022 และการประชุมพิเศษเรื่อง “Dialogue between Young Leaders and Nobel Laureates” ได้แก่ 
- สาขาจุลชีววิทยา: ผศ.ดร. นุจริน จงรุจา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
- สาขาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม:  รศ.ดร. พันธนา ตอเงิน คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- สาขาวิศวกรรมเครื่องกล:  ผศ.ดร. พชรพิชญ์ พรหมอุปถัมภ์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
- สาขาการวิจัยด้านมาลาเรีย:  ดร. ศิรเศรษฐ์ บัณฑุชัย คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล
- สาขาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม:  ดร.นพ. เจตน์ รัตนจีนะ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ความคิดเห็น