วช. หนุนนวัตกรรมเครื่องผลิตปุ๋ยหมักลดขยะอินทรีย์ สร้างรายได้ให้เกษตรกร อ.สามพราน จ.นครปฐม
สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ให้การสนับสนุนนวัตกรรมเครื่องผลิตปุ๋ยหมักเพื่อการจัดการขยะอินทรีย์ และวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ที่คิดค้นโดยคณะนักวิจัยจาก
ศูนย์ปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง คณะเกษตร กำแพงแสน และศูนย์เครื่องจักรกลการเกษตรแห่งชาติ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม ซึ่งเป็นเครื่องมือที่อำนวยความสะดวกในการผลิตปุ๋ยหมักแบบรวดเร็ว สามารถย่อยสลายอินทรีย์วัตถุได้ภายใน 1 สัปดาห์
ซึ่งนอกจากจะช่วยลดปริมาณขยะอินทรีย์ในครัวเรือนและในภาคการเกษตรแล้ว การทำปุ๋ยหมักยังสามารถลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในการปลูกพืชทุกชนิดไม่ว่าจะเป็นพืชผักสวนครัวหรือพืชอื่นๆ ที่ปลูกในภาคการเกษตร อีกทั้งยังสามารถผลิตปุ๋ยคุณภาพดีราคาถูกนำมาจำหน่ายเป็นรายได้เสริมได้อีกด้วย ขณะนี้มีการส่งเสริมการใช้งานและขยายผลต่อยอด โดยถ่ายทอดเป็นองค์ความรู้ให้กับเกษตรกรหรือกลุ่มชุมชนที่รวมตัวจัดตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชน หน่วยงาน และในสถานศึกษาต่างๆ
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. เป็นองค์กรของรัฐที่สำคัญในการขับเคลื่อนให้การสนับสนุนงานวิจัย สิ่งประดิษฐ์คิดค้นหรือนวัตกรรมต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน และสามารถถ่ายทอดเป็นองค์ความรู้สนับสนุนในภาคการผลิตต่างๆ รวมถึงการส่งเสริมพัฒนาคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม ซึ่งทุกวันนี้ปัญหามลพิษจากขยะล้นเมืองเป็นมูลเหตุสำคัญที่ทำลายสิ่งแวดล้อมไม่ว่าจากครัวเรือนหรือภาคการผลิต ทำให้นักวิจัยจากหลายสถาบันได้พยายามคิดค้นนวัตกรรมเพื่อช่วยในการกำจัดขยะ
โดยเฉพาะขยะอินทรีย์ สามารถนำกลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ภาคการเกษตร ทำให้สามารถช่วยลดต้นทุน ลดค่าใช้จ่าย สร้างเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีแก่เกษตรกรไม่ว่าจะเป็นรายครอบครัวหรือการรวมกลุ่มกันในระดับหมู่บ้านหรือชุมชน อาทิ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนต่างๆ สามารถใช้นวัตกรรมเครื่องผลิตปุ๋ยหมักนี้ช่วยอำนวยความสะดวกในการผลิตปุ๋ยหมักขึ้นมาใช้เองจากขยะอินทรีย์ หรือวัสดุอินทรีย์ที่ย่อยสลายง่ายประเภทต่างๆ ซึ่งนวัตกรรมเครื่องผลิตปุ๋ยหมัก เป็นส่วนหนึ่งของนวัตกรรมกว่า 50 ผลงานที่นำมาแสดงในโอกาสวันสถาปนาครบรอบ 63 ปี ของ วช. ระหว่างวันที่ 25 – 28 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา ภายใต้สโลแกน “63 ปี วช. มุ่งสู่สังคมอุดมปัญญา พัฒนาไทยด้วยวิจัยและนวัตกรรม”
ดร.ลักขณา เบ็ญจวรรณ์ นักวิจัยจากศูนย์ปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง คณะเกษตร กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน เปิดเผยว่า ได้ทำการศึกษาร่วมกับศูนย์เครื่องจักรกลการเกษตรแห่งชาติ ในการผลิตโมเดลต้นแบบเครื่องผลิตปุ๋ยหมักจากขยะอินทรีย์ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับเกษตรกรในการผลิตปุ๋ยหมักขึ้นใช้เอง โดยใช้ขยะอินทรีย์ประเภทต่างๆ ทั้งที่เกิดขึ้นในครัวเรือน และภาคการเกษตร เช่น
ใบไม้แห้ง เศษอาหาร เศษผัก เปลือกผลไม้ รวมถึงมูลสัตว์ โดยเครื่องผลิตปุ๋ยหมักนี้มีกลไกการกวนผสมด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า เพื่อสร้างสภาวะที่เหมาะสมสำหรับการย่อยสลายอินทรียวัตถุโดยจุลินทรีย์กลุ่มที่ใช้อากาศ ซึ่งผู้ใช้งานมีหน้าที่เปิดเครื่องกวนผสมทุกวันๆละ 1-2 นาที และทำการตรวจสอบความชื้นของอินทรียวัตถุที่อยู่ภายในถังหมักให้มีความเหมาะสมอยู่เสมอ( หากพบว่าแฉะเกินไปให้เติมใบไม้แห้ง ถ้าหากแห้งเกินไปให้เติมน้ำ ) เมื่อครบระยะเวลา 7 วัน หรืออินทรียวัตถุภายในถังหมักเปลี่ยนสภาพเป็นสีดำและมีกลิ่นคล้ายดิน ให้นำออกจากเครื่องมาใส่เข่งตั้งทิ้งไว้ เมื่อจับดูปุ๋ยหมักไม่มีความร้อนจึงนำไปใช้งานได้
สำหรับจุดเด่นของเครื่องผลิตปุ๋ยหมักนี้คือ สามารถลดระยะเวลาในการผลิตปุ๋ยหมักซึ่งแต่เดิมต้องใช้ระยะเวลา 1-3 เดือนให้เหลือระยะเวลาเพียง 1 สัปดาห์ ซึ่งถือว่าเป็นวิธีการใหม่ที่สะดวกและรวดเร็ว มีต้นทุนต่ำ จ่ายค่าไฟแค่หลักสิบต่อเดือน ขณะนี้ได้มีการเผยแพร่องค์ความรู้เครื่องผลิตปุ๋ยหมักและมีการนำไปใช้งานอย่างแพร่หลาย ทั้งในสถานศึกษา โรงเรียนหมู่บ้าน และชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศกว่า 200 แห่ง ใน 45 จังหวัด ทั่วประเทศ อาทิ กลุ่มอาสาสมัครท้องถิ่นรักษ์โลก ซึ่งเป็นการรวมตัวของชาวชุมชนในตำบลยายชา อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม ภายใต้โครงการ การนำนวัตกรรมไปจัดการกับวัชพืชและผักตบชวา เพื่อสร้างรายใด้ให้ชุมชน ทำให้เกิดกิจกรรมการทำปุ๋ยหมักด้วยเครื่องผลิตปุ๋ยหมักที่ทาง วช. มอบให้ ปัจจุบันกลุ่มนี้มีการผลิตปุ๋ยหมักและดินผสมพร้อมปลูก เพื่อจำหน่ายในชุมชนสร้างรายได้ให้แก่กลุ่มประมาณ 20,000 บาทต่อเดือน ซึ่งมีข้อดีคือ นอกจากจะช่วยลดปริมาณขยะอินทรีย์และช่วยลดปัญหามลพิษสิ่งแวดล้อมให้แก่ชุมชนแล้วยังสร้างรายได้ให้แก่กลุ่มได้อย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน สำหรับผู้ที่สนใจไม่ว่าในนามองค์กร หรือตัวบุคคล สามารถติดต่อขอรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ดร.ลักขณา เบ็ญจวรรณ์ ศูนย์ปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง คณะเกษตรกำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน โทร 094-463-5614 E-mail:rdilnb@ku.ac.th
ความคิดเห็น