วช. ติดตามความก้าวหน้า การนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ เพิ่มน้ำต้นทุนของเขื่อนหลักเพื่อการพัฒนาลุ่มน้ำเจ้าพระยา

วันที่ 23 พฤศจิกายน 2566 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ติดตามความก้าวหน้าวิจัยเข็มมุ่งด้านการจัดการน้ำ โดยคณะกรรมการกำกับงานวิจัย วช. กลุ่มงานที่ 3 เรื่อง “การพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อเสริมการเพิ่มน้ำต้นทุนของเขื่อนหลักเพื่อการพัฒนาลุ่มน้ำเจ้าพระยา” แผนงานยุทธศาสตร์เป้าหมายด้านสังคม แผนงานการบริหารจัดการน้ำ
 ระยะที่ 3 โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.สุจริต คูณธนกุลวงศ์  ประธานแผนงานยุทธศาสตร์เป้าหมายด้านสังคม แผนงานการบริหารจัดการน้ำ ระยะที่ 3 กล่าววัตถุประสงค์ของแผนงานวิจัยฯ พร้อมแนะนำคณะกรรมการกำกับงานวิจัย วช. หน่วยงานใช้ประโยชน์และคณะนักวิจัย  ดร.ธเนศร์ สมบูรณ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา กรมชลประทาน กล่าวต้อนรับ และมี รศ ดร เจษฏา แก้วกัลยา ดร.สมชาย ใบม่วง ผู้ทรงคุณวุฒิ วช. คุณสมชาย หวังวัฒนาพาณิช ประธานสถาบันน้ำและสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย รศ.ดร. สุดสวาสดิ์ ดวงศรีไสย์ จาก สกสว คุณเพชรินทร อรุณรัตน์ จากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ คุณอุมาพร โควงษ์ จากวช.  เข้าร่วมรับฟังการนำเสนอและให้คำแนะนำ ณ ห้องประชุมธารทิพย์ กรมชลประทาน สามเสน กรุงเทพมหานคร
รองศาสตราจารย์ ดร.สุจริต คูณธนกุลวงศ์ กล่าวว่า เป็นผลงานนวัตกรรมการบริหารเขื่อนที่ฉลาด โดยใช้เทคนิคฝนล่วงหน้า ความต้องการใช้น้ำจากดาวเทียม และ AI ในการคาดการณ์การปล่อยน้ำจากเขื่อนที่เหมาะสม ทำให้รู้ว่าควรจะปล่อยน้ำเมื่อไร เท่าไร ให้ประหยัดน้ำในหน้าฝน และมีน้ำเหลือในหน้าแล้งเพิ่มขึ้นกว่า 15% ส่วนการพยากรณ์ล่วงหน้าปกติ พยากรณ์ 3 วัน แต่ขณะนี้สามารถดูได้ 14 วัน และ 3 เดือน ทำให้รู้แนวโน้มใน 3 เดือนข้างหน้า ผลการทำนายล่วงหน้า 7 วัน ให้ผลที่เป็นน่าพอใจ 
นายเลอบุญ อุดมทรัพย์ ผู้อำนวยการส่วนประมวลวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ กล่าวว่า ยินดีอย่างยิ่ง ที่ วช. มีงานวิจัยดี ๆ เข้ามาสนับสนุนกรมชลประทาน กรมชลประทานได้นำงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ในด้านการบริหารจัดการน้ำ เพื่อบริหารจัดการน้ำได้ทุกมิติ โดยใช้เทคโนโลยีทันสมัยและหลักวิชาการได้ถูกต้อง ทำให้การบริหารจัดการน้ำให้กับประชาชนอย่างเป็นธรรมและทั่วถึงเพียงพอ กรมชลประทาน หวังว่า วช. จะสนับสนุนนักวิจัย และงานวิจัยดี ๆ ต่อไปในอนาคต
การติดตามความก้าวหน้าโครงการวิจัยฯ ในครั้งนี้ ได้มีการนำเสนอโครงการวิจัย จำนวน 2 เรื่อง ดังนี้
1) โครงการวิจัยการพัฒนาระบบการจำลองแบบอัตโนมัติสำหรับคาดการณ์ปริมาณน้ำท่าผิวดินและประเมินความต้องการน้ำชลประทานเพื่อสนับสนุนการบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ไชยาพงษ์ เทพประสิทธิ์ แห่ง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นหัวหน้าโครงการ กล่าวว่า การพัฒนาระบบการจำลองแบบอัตโนมัติสำหรับคาดการณ์ปริมาณน้ำท่าผิวดินและประเมินความต้องการน้ำชลประทาน 
ในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีงานย่อย ดังนี้ 1. การประยุกต์ใช้แบบจำลองน้ำฝน – น้ำท่า เพื่อคาดการณ์ปริมาณน้ำท่าที่เกิดขึ้น ณ จุดสถานีควบคุม โดยประยุกต์ใช้แบบจำลองจะเป็นการดำเนินการในรูปแบบอัตโนมัติเพื่อคาดการณ์ปริมาณน้ำท่า จากข้อมูลปริมาณฝนคาดการณ์ล่วงหน้าราย 14 วันของสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) (สสน.) สามารถอัพเดตการจำลองผลใน รูปแบบรายวันหรือตามที่ผู้ใช้งานกำหนด ซึ่งข้อมูลปริมาณน้ำท่าดังกล่าวจำเป็นต้องคำนึงถึงข้อมูลปริมาณน้ำท่าตรวจวัด ข้อมูลการบริหารจัดการน้ำ (เช่นข้อมูลการบริหารจัดการอ่างเก็บน้ำและข้อมูลการจัดสรรน้ำร่วม) ด้วย  2. การประยุกต์ใช้ข้อมูลภาพถ่ายจากดาวเทียมเพื่อประเมินพื้นที่เพาะปลูกพืชและคำนวณความต้องการน้ำชลประทาน โดยดำเนินการในรูปแบบอัตโนมัติเพื่ออัพเดทข้อมูลพื้นที่เพาะปลูกให้เป็น ปัจจุบันรวมทั้ง จำลองสถานการณ์การจัดสรรน้ำชลประทานกรณีน้ำไม่เพียงพอด้วยแฟคเตอร์ปรับลดการจัดสรรน้ำ 
3. การออกแบบและการพัฒนาระบบฐานข้อมูลและระบบจำลองอัตโนมัติ โดยมีข้อมูลที่ใช้ในการจำลองประกอบด้วย ข้อมูลปริมาณฝน ข้อมูลตรวจวัดสภาพภูมิอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา ข้อมูลปริมาณฝนคาดการณ์ล่วงหน้าจากโครงการวิจัยของ สสน. ข้อมูลการบริหารจัดการอ่างเก็บน้ำ จากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และระดับน้ำจากกรมชลประทาน ข้อมูลแผนและผลการจัดสรรน้ำรายสัปดาห์จากกรมชลประทาน สำหรับผลคาดการณ์ปริมาณน้ำท่าและประเมินความต้องการน้ำชลประทาน จากงานวิจัย เพื่อจัดการข้อมูลนำเข้าและแสดงผลอย่างอัติโนมัติ
2) โครงการวิจัยการพัฒนาระบบการจัดการอ่างเก็บน้ำแบบอัตโนมัติในลุ่มน้ำเจ้าพระยา โดย รองศาสตราจารย์ ดร.อารียา ฤทธิมา แห่ง มหาวิทยาลัยมหิดล หัวหน้าโครงการวิจัย กล่าวว่า ได้พัฒนาต่อยอดจากโครงการวิจัยระยะที่ 1 และระยะที่ 2 ซึ่งได้ดำเนินการแล้วเสร็จในระยะที่ 3 ใน เรื่อง “การพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อเสริมการเพิ่มน้ำต้นทุนของเขื่อนหลักเพื่อการพัฒนาลุ่มน้ำเจ้าพระยา” โดยที่ผ่านมาได้ผลักดันผลงานวิจัยให้เกิดนวัตกรรมการบริหารจัดการน้ำจากอ่างเก็บน้ำอัตโนมัติตามนโยบายการพัฒนาประเทศในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาซึ่งเป็นลุ่มน้ำที่มีความสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจทั้งในภาคเกษตรกรรมและ อุตสาหกรรมของประเทศ โดยนำเสนอแนวคิดการพัฒนาระบบการจัดการอ่างเก็บน้ำอัตโนมัติ
 ในลักษณะของปฏิบัติการอ่างเก็บน้ำร่วมกันแบบหลาย รูปแบบใหม่อย่างเป็นระบบโดยอาศัยเทคโนโลยีด้านปัญญาประดิษฐ์ ในการบริหารจัดการเขื่อนเก็บน้ำเพื่อการแก้ปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งทั้งในระยะสั้นและระยะยาวในลุ่มน้ำเจ้าพระยา

ความคิดเห็น