TBCSD Annual Event 2023TBCSD ผู้นำของภาคธุรกิจไทยได้ประกาศจุดยืนในโอกาสครบรอบ 30 ปีเพื่อร่วมขับเคลื่อนประเทศไทยให้ก้าวไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำและการพัฒนาอย่างยั่งยืน
องค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Thailand Business Council for Sustainable Development: TBCSD) ได้จัดงานสัมมนาประจำปี พ.ศ. 2566 (TBCSD Annual Event 2023) ในโอกาสครบรอบ 30 ปี TBCSD บนเส้นทางการดำเนินงานด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนของเครือข่ายภาคธุรกิจไทย ขึ้น ณ โรงแรม เซ็นทารา แกรนด์ เซ็นทรัล พลาซ่า ลาดพร้าว กรุงเทพฯ โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อรับฟังปาฐกถาพิเศษจาก นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เกี่ยวกับ ความท้าทายในการยกระดับมาตรฐานองค์กรภาคธุรกิจไทยไปสู่องค์กรต้นแบบธุรกิจคาร์บอนต่ำ เพื่อผลักดันประเทศไทยสู่ความยั่งยืน และบรรลุการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี ค.ศ. 2065 พร้อมทั้ง รับทราบวิสัยทัศน์ของ TBCSD ในฐานะเครือข่ายภาคธุรกิจไทยด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนในการร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนในมิติต่าง ๆ สอดคล้องกับนโยบายสำคัญของประเทศให้ก้าวไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำและการพัฒนาอย่างยั่งยืน
โดยในงานครั้งนี้ได้รับเกียรติอย่างสูงจากนายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานองค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนมาเป็นประธานกล่าวต้อนรับ และ นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นองค์ปาฐกพิเศษ พร้อมด้วยผู้บริหารจากองค์กรพันธมิตรจาก 5 หน่วยงานหลักของประเทศ ได้แก่ 1) สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย 2) หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย 3) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
4) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และ 5) องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) และ องค์กรสมาชิก TBCSD จำนวน 45 องค์กร ซึ่งครอบคลุมกลุ่มอุตสาหกรรมหลักของประเทศไทย ได้แก่ กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม ธุรกิจการเงิน สินค้าอุตสาหกรรม อสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง ทรัพยากร บริการ เทคโนโลยี และกลุ่มอื่น ๆ
นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานองค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน กล่าวว่า “กว่า 3 ทศวรรษบนเส้นทางการดำเนินงานด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (TBCSD) ซึ่งเป็นเครือข่ายภาคธุรกิจไทยที่ใหญ่ที่สุดเครือข่ายหนึ่งของประเทศที่มีความมุ่งมั่นตั้งใจในการส่งเสริมองค์กรภาคธุรกิจไทยให้ก้าวพัฒนาไปข้างหน้าอย่างยั่งยืน โดยให้ความสำคัญในการดำเนินงานธุรกิจควบคู่ไปกับการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา TBCSD ได้ให้ความสำคัญของการดำเนินงานที่ส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมถึง องค์กรภาคธุรกิจไทยได้เข้าไปมีบทบาทสำคัญในการแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศ พร้อมทั้ง การยกระดับมาตรฐานขององค์กรไปสู่การเป็นองค์กรต้นแบบธุรกิจคาร์บอนต่ำและยั่งยืน เพื่อมุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ตอบสนองนโยบายของประเทศไทยสู่ความยั่งยืน”
นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ให้เกียรติมาร่วมกล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “ความท้าทายในการยกระดับมาตรฐานองค์กรภาคธุรกิจไทยไปสู่องค์กรต้นแบบธุรกิจคาร์บอนต่ำ เพื่อผลักดันประเทศไทยสู่ความยั่งยืน” กล่าวว่า “ปัจจุบันโลกมีความตื่นตัวอย่างมากต่อปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 28 ณ เมืองดูไบ สาธารณรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ทุกประเทศที่เข้าร่วมมีการเตรียมการประกาศเจตนารมณ์ เจรจาความตกลงและความร่วมมือต่าง ๆ เพื่อหาข้อสรุปการดำเนินการเพื่อควบคุมอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกให้เพิ่มสูงขึ้นไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส
รายงาน Emission Gap 2023 ชี้ให้เห็นว่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของโลกในปี 2022 สูงขึ้นจากปี 2021 ร้อยละ 1.2 ทำสถิติใหม่ที่ 57.4 Gt CO2 eq ซึ่ง 2 ใน 3 มาจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลและกระบวนการอุตสาหกรรม ซึ่งผลที่ได้ ณ ปัจจุบันสะท้อนว่าการควบคุมอุณหภูมิโลกให้เพิ่มขึ้นไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส ต้องมีการยกระดับ NDC ทุกประเทศในปี 2030 ขึ้นไปถึง 42%
ประเทศไทยมีการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงสุดจากสาขาพลังงาน รองลงมา คือ เกษตรและอุตสาหกรรม การเร่งรัดการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทยให้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม คือ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในสาขาพลังงาน เกษตรและอุตสาหกรรม ซึ่งต้องทำทันที การยกระดับองค์กรไปสู่องค์กรต้นแบบธุรกิจคาร์บอนต่ำอย่างยั่งยืน หมายถึง การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากธุรกิจให้ได้ถึงระดับ Net zero greenhouse gas emissions ภายในปี 2050 เพื่อเปลี่ยนผ่านประเทศไทยไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำอย่างแท้จริง เพราะนี่คือทางรอดของโลก”
นอกจากนี้ TBCSD ยังได้รับเกียรติจากผู้บริหารระดับสูงของสมาชิก TBCSD จำนวน 3 องค์กรด้วยกันในการนำเสนอกลยุทธ์สำคัญในการมุ่งขับเคลื่อนธุรกิจไปสู่การเป็นธุรกิจคาร์บอนต่ำและยั่งยืน ได้แก่ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) (กลุ่มเทคโนโลยี) บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จํากัด (มหาชน) (กลุ่มธุรกิจการเงิน) และ บริษัท ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) (กลุ่มอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง) ซึ่งแต่ละองค์กรเป็นผู้แทนของแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่มีบทบาทสำคัญในการแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม อันเป็นการยกระดับมาตรฐานขององค์กรภาคธุรกิจไทยไปสู่การเป็นองค์กรต้นแบบธุรกิจคาร์บอนต่ำและยั่งยืน (Low Carbon and Sustainable Business) เพื่อมุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ตอบสนองนโยบายของประเทศไทยสู่ความยั่งยืน
นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “เอไอเอส เชื่อมั่นใน ECOSYSTEM ECONOMY หรือ เศรษฐกิจแบบร่วมกัน จากภารกิจ 3 ส่วน คือ 1.พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลอัจฉริยะ 2.เชื่อมโยงความแข็งแกร่งระหว่างอุตสาหกรรม และ 3.การดำเนินงานอย่างยั่งยืนพร้อมกับการพัฒนาบุคลากร เพื่อเป็นส่วนสนับสนุนหลักในการสร้างการเติบโตของประเทศอย่างยั่งยืน หรือ Sustainable Nation โดยมีแนวทางการดำเนินงานเพื่อขับเคลื่อนนโยบายด้านความยั่งยืนที่มุ่งยกระดับคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ ประกอบด้วย 1.ลดผลกระทบสู่สิ่งแวดล้อมผ่านกระบวนการดำเนินธุรกิจภายใน ทุกภาคส่วนพร้อมนำ Greenovation เข้ามาประยุกต์ใช้ในการบริหารจัดการ 2.ส่งเสริมทักษะดิจิทัล ในการใช้เทคโนโลยีอย่างสร้างสรรค์และปลอดภัยผ่านภารกิจ AIS อุ่นใจ CYBER และ 3.ส่งเสริมการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างถูกวิธี (Zero e-waste to landfill) พร้อมร่วมกับ Green Partnership กว่า 190 องค์กร ยกระดับสู่การเป็น HUB of e-waste ขับเคลื่อนการแก้ปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างยั่งยืน”
ดร.อารักษ์ สุธีวงศ์ Deputy Chief Executive Officer บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จํากัด (มหาชน) กล่าวว่า “SCBX มุ่งขับเคลื่อนองค์กรคาร์บอนต่ำและยั่งยืน ผ่านเป้าหมาย Net Zero จากการดำเนินงานภายในปี 2030 และจากการให้สินเชื่อและการลงทุน ภายในปี 2050 ขณะเดียวกัน SCBX จะผลักดันการนำ AI มาใช้ในการบริหารจัดการองค์กร การสนับสนุนทางการเงินให้กับลูกค้า และการลงทุน ที่มุ่งส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านสู่ Net Zero เพื่อก้าวสู่การเป็น AI-First Organization และ Net Zero Leader ไปพร้อมกัน”
นายพีระพงศ์ จรูญเอก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) ผู้พัฒนาธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ครบวงจร กล่าวว่า “บริษัทฯ ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมในทุกกระบวนการของการดำเนินธุรกิจ เริ่มตั้งแต่การออกแบบ การก่อสร้าง การใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไปจนถึงการจัดการขยะอย่างครบวงจร ควบคู่ไปกับการพัฒนาองค์กรให้เติบโตอย่างยั่งยืนภายใต้หลักบรรษัทภิบาล ด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในทุกฝ่าย
จากปัญหาภาวะโลกร้อน ออริจิ้นได้ให้ความสำคัญกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ด้วยการใช้พลังงานสะอาดในโครงการคอนโดมิเนียม ดำเนินการติดตั้งแผงโซลาร์ Solar Rooftop เพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้าจำหน่ายภายในพื้นที่ส่วนกลาง และติดตั้งสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า (EV Charger Station) ช่วยให้ลูกบ้านเข้าถึงจุดชาร์จรถไฟฟ้าได้สะดวกและตอบโจทย์การอยู่อาศัย นอกจากนี้ ยังดูแลลูกค้าทุกช่วงชีวิตและสังคมภายนอกอย่างครอบคลุม ผ่านโครงการ ORIGIN GIVE ที่ “ให้” คุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้นทั้งด้านการศึกษา สังคม และสิ่งแวดล้อม ตลอดจนปลูกฝังค่านิยมในเรื่องการใส่ใจสิ่งแวดล้อมให้แก่พนักงานทุกระดับภายในองค์กร เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนองค์กรสู่เป้าหมาย Net Zero ภายในปี 2044 นำไปสู่การดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนต่อไป”
รวมถึง ในโอกาสอันเป็นวาระพิเศษครบรอบ 30 ปี ของ TBCSD นั้น องค์กรพันธมิตร และองค์กรสมาชิก TBCSD ได้ร่วมกันประกาศจุดยืนครั้งสำคัญในการเป็นผู้นำของภาคธุรกิจไทยด้านความยั่งยืนที่ทันกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกและตอบโจทย์ทิศทางการพัฒนาของประเทศ เพื่อร่วมสนับสนุนประเทศไทยให้ก้าวไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำและการพัฒนาอย่างยั่งยืน
ภายในงานได้มีการจัดพิธีส่งมอบตำแหน่งคณะกรรมการบริหาร TBCSD อย่างเป็นทางการ ให้กับคณะกรรมการบริหาร TBCSD ชุดใหม่ ที่เป็น CEO จากองค์กรสมาชิกที่เป็นตัวแทนของแต่ละกลุ่มธุรกิจ เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานของ TBCSD ให้ก้าวต่อไปอย่างเข้มแข็งและมั่นคง และเพื่อยกระดับมาตรฐานภาคธุรกิจไทยและเครือข่ายด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน อันเป็นการแสดงออกถึงพลังการรวมตัวขององค์กรภาคธุรกิจไทยในการขับเคลื่อนประเทศไปสู่ความสมดุลด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ การดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อมควบคู่กันไป อันจะเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาอย่างยั่งยืนและได้รับการยอมรับจากสากล
ดร. วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ทำหน้าที่เป็นเลขาธิการองค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน กล่าวว่า “ในช่วงที่ผ่านมา TBCSD ได้ร่วมแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมและสังคมของประเทศ ได้แก่ ปัญหาขยะพลาสติก ปัญหา PM2.5 การพัฒนาและขยายผลฉลากเขียวให้ได้รับการยอมรับในประเทศและเป็นเครือข่ายระดับโลก การขับเคลื่อนการประกาศจุดยืนของภาคธุรกิจในการแสดงความมุ่งมั่นเพื่อก้าวไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน และ Net Zero รวมทั้ง การเตรียมการเพื่อรองรับปัญหาใหม่ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity) รวมทั้ง การช่วยเหลือสังคมในคราวประสบภัยต่าง ๆ ได้แก่ ภาวะอุทกภัยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ การระบาดของโควิด-19 เป็นต้น”
ด้วยความร่วมมือกันอย่างเข้มแข็งขององค์กรสมาชิก และการทำงานร่วมกันกับองค์กรพันธมิตร และเครือข่ายทั้งในและต่างประเทศ TBCSD จึงเป็นผู้นำในการยกระดับให้มีการดำเนินธุรกิจที่ยั่งยืนในวงกว้างและสนับสนุนประเทศไทยให้ก้าวไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำและการพัฒนาอย่างยั่งยืนอย่างแท้จริง
ทั้งนี้ ท่านสามารถเข้าไปดูรายละเอียดข้อมูลวีดิทัศน์การประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันในการขับเคลื่อนองค์กรสู่ต้นแบบธุรกิจคาร์บอนต่ำและยั่งยืน ในโอกาสครบรอบ 30 ปี TBCSD บนเส้นทางการดำเนินงานด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดย องค์กรสมาชิกและองค์กรพันธมิตร TBCSD ทั้งหมดพร้อมใจกันแสดงความมุ่งมั่น “การขับเคลื่อนองค์กรสู่ต้นแบบธุรกิจคาร์บอนต่ำและยั่งยืน (Low Carbon and Sustainable Business)” เพื่อมุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ตอบสนองนโยบายของประเทศไทยสู่ความยั่งยืน ได้ที่ https://shorturl.asia/2SA3t
******************************** *********************
ความคิดเห็น